ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

กรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102

การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 หมายถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างสังกัดอยู่เท่านั้น

 

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ระบุว่าจำเลยให้กรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานได้ตามที่หน่วยราชการมีหนังสือขอความร่วมมือโดยไม่ถือเป็นวันลานั้น ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 การลาไปร่วมประชุมที่จะไม่ถือเป็นวันลา

 

จึงหมายความถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่เท่านั้น

 

การที่โจทก์ลาไปร่วมประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร และลาไปร่วมสัมมนาทางวิชาการรวมพลังส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ใช่การประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ ไม่ใช่การลาที่ไม่ถือเป็นวันลาตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

________________________________

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  18949/2555      

นายสุคนธ์ สุพลดี กับพวก โจทก์

บริษัทอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำเลย

 

คดีนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ มบ.374/2550 ของศาลแรงงานกลาง แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 573 บาท และเบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างงวดแรกไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน 382 บาท และเบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าการลาของโจทก์ในวันที่ 9 มีนาคม 2550 และวันที่ 15 มีนาคม 2550 เป็นการลาไปเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ถือเป็นวันลาใช่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การลาทั้งสองวันเป็นการลาเพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนา ไม่เกี่ยวกับกิจการของสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ จึงไม่เป็นการลาตามความในมาตรา 102 แห่งระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และไม่เป็นการลาเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มิให้ถือเป็นวันลา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลา และเมื่อโจทก์ไม่มาทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์

 

พิเคราะห์แล้ว บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยลงวันที่ 7 มีนาคม 2546 ข้อ 6 มีข้อความว่า “บริษัทฯตกลงให้กรรมการสหภาพแรงงานฯและสมาชิกลาไปเพื่อดำเนินกิจกรรมสหภาพฯ ได้ตามที่หน่วยงานราชการได้มีหนังสือขอความร่วมมือไป โดยไม่ถือเป็นวันลา” ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน”

 

เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 เป็นการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงาน และไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ จึงต้องหมายถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างดังกล่าวสังกัดอยู่เท่านั้น มิใช่สหภาพแรงงานใด ๆ ก็ได้หรือประชุมในเรื่องใด ๆ ก็ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด มิฉะนั้นลูกจ้างก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง หากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างประชุมในเรื่องอื่นก็จะต้องบัญญัติไว้

 

แม้คดีนี้จะมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ด้วยตามความในข้อ 6 แต่ความในข้อ 6 ก็มิได้ให้สิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ความในข้อ 6 จึงหมายความถึงการลาไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและเป็นสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่ลูกจ้างสังกัดอยู่เท่านั้น

 

ตามหนังสือเชิญโจทก์ประชุมลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 มีนาคม 2550 ระบุชื่อเรื่องไว้ว่า “ขอเชิญร่วมประชุมสัมมนาระดมความเห็นเวทีระดับชาติ เรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร” และตามหนังสือเชิญโจทก์ประชุมลงวันที่ 8 มีนาคม 2550 ซึ่งโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ก็ระบุชื่อเรื่องไว้ว่า ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการรวมพลังส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ

 

การเชิญประชุมทั้งสองครั้งจึงมิใช่เป็นการประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานอาร์ทอพอินเตอร์เนชั่นแนลที่โจทก์สังกัดอยู่ และมิใช่การลาที่ไม่ถือเป็นวันลาโดยถือเป็นวันทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยหรือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 เมื่อโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยในวันที่ 9 มีนาคม 2550 และวันที่ 15 มีนาคม 2550 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันทำงานทั้งสองวันให้แก่โจทก์ ส่วนเบี้ยขยันเป็นเงินที่จำเลยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานโดยไม่ลาไม่ขาด เมื่อโจทก์ขอลาไปเข้าร่วมประชุมโดยมิได้ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยขยันให้แก่โจทก์ด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง 382 บาท เบี้ยขยัน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 

(พิทยา บุญชู - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ )

ศาลแรงงานกลาง - นายยงยุทธ สมัย

 

 

 



19/May/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา