ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การจ่ายเงินให้ลูกจ้างในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว

กฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทยจึงได้กำหนดมาตรการอันเป็นทางออกให้นายจ้างที่มีความจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตด้านค่าจ้าง แต่ยังไม่ขั้นเลิกจ้างลูกจ้าง อีกทั้งยังเป็นมาตรการอันเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่ธุรกิจของนายจ้างประสบปัญหา มาตรการดังกล่าวได้แก่ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552 โดยให้ยกเลิกมาตรา 75 เดิม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

 

 “มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง  จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

 

 

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรค 1 ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”

 

 

จากบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่ามาตรา 75 เดิมนั้นกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แต่มาตรา 75 ใหม่ ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75

 

 

การจ่ายเงินตามมาตรา 75 นี้ไม่ใช่ค่าจ้างตามคำนิยาม เนื่องจากเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในวันที่นายจ้างกำหนดให้หยุดกิจการชั่วคราวตามสิทธิของนายจ้างเท่านั้น  มิใช่การหยุดในวันหยุดที่ลูกจ้างมีสิทธิหยุดตามพระราชบัญญัตินี้  ดังนั้น จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน

 

 

 

การที่นายจ้างประกาศหรืออกคำสั่งเพื่อหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรานี้ ไม่ใช่การแสดงเจตนาเลิกจ้าง ลูกจ้างยังคงเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่ในระหว่างที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวนี้ ลูกจ้างสามารถไปทำงานให้กับบุคคลอื่นได้ เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีพของตน ทั้งนี้เพราะบทมาตรา 75 นี้ มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว และแม้จะมีประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น ยังไม่มีการแสดงเจตนาเลิกจ้างลูกจ้าง อีกทั้งเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามมาตรา 75 ก็เป็นเพียงเงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายเท่านั้น มิใช่ค่าจ้าง การที่ลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่น จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548)

 

 

ในบางกรณี แม้ว่าลูกจ้างจะได้เงินในระหว่างนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน ลูกจ้างยังได้รับเบี้ยขยันและค่าอาหาร รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้างปกติ  นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างแล้ว เพราะมากกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8193/2543)  จึงถือว่านายจ้างได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายในมาตรา 75 นี้แล้ว

 

 

การที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานก่อนการหยุดกิจการชั่วคราวก่อนตามมาตรา 75 วรรค 2 นั้น ก็เพื่อควบคุมมิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง กล่าวคือ แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ  หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จ หรือไม่มีความจำเป็นเพียงพอที่นายจ้างจะต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่หยุดเพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด เพื่อเรียก ค่าจ้างปกติเต็มจำนวน ค่าเสียหายรวม ทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้ (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880 - 8886/2542)

 

 

 

ความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 วรรค 1 นี้ จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก จนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร  เช่น กรณีบางครั้งนายจ้างขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของนายจ้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของนายจ้างเองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548,6703 - 6752/2549) เป็นผลให้นายจ้างไม่มีสิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 นี้ได้  ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานชั่วคราว

 

 

 

การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการนายจ้างได้ เช่น การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยลูกจ้างแบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กุล่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร และไม่ปรากฏว่าลูกจ้างเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2548)

 

 

คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 75 นี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มิได้ให้ความหมายไว้ ดังนั้นอาจถือตามหลักกฎหมายอื่นที่ใกล้เคียง คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติความหมายของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ไว้ว่า “เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

 

 

การที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 นี้ ต้องเป็นการหยุดชั่วคราว เนื่องด้วยเหตุซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยเท่านั้น  เช่น การหยุดโรงงานเนื่องจากนายจ้างประสบภาวะขาดทุน หรือไม่มีการสั่งซื้อจากลูกค้า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างมีสิทธิหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่นายจ้างต้องค่าเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวนั้นตามมาตรา 75

 

 

ถ้าเป็นการหยุดเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75 นี้  เช่น การเกิดแผ่นดินไหวจนทำให้โรงงานถล่มจนไม่อาจดำเนินกิจการได้และต้องหยุดกิจการชั่วคราว ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย  นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75ให้ลูกจ้างเนื่องจากการหยุดกิจการชั่วคราวนั้น

 

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับ การจ่ายค่าจ้างในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว

 

1.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880 - 8886/2542  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดทำงานชั่วคราวนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง แต่นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75)ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ แต่ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้ในมาตรา 75 วรรคสอง หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จ เพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้

 

 

 

2.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8193/2543  นายจ้างประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก ทำให้การดำเนินงานของนายจ้างในส่วนการประกอบชิ้นส่วนลดน้อยลง ถือเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างสามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ การที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างที่ทำงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนจึงชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในช่วงที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อลูกจ้างได้จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน รวมทั้งเบี้ยขยันและค่าอาหาร รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้าง นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างอยู่แล้ว ลูกจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่ลูกจ้างสั่งให้หยุดงานชั่วคราวอีก

 

 

3.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966 - 2406/2545  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของนายจ้างยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากนายจ้างเป็นจำนวนมาก หากนายจ้างยังคงผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่านายจ้างจะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการนายจ้างซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ ถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว การที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน โดยนายจ้างจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานแก่ลูกจ้างแล้ว จึงชอบด้วยมาตรา 75

 

 

 

 

4.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966 - 2406/2546  พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจให้สามารถหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวให้หมดสิ้นหรือบรรเทาลงได้ เมื่อได้ความว่าลูกค้าของนายจ้าง ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากนายจ้าง เป็นจำนวนมาก หากนายจ้าง ยังผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่านายจ้าง จะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่ การผลิตต้องมีเงินลงทุนย่อมเสี่ยงต่อการ ขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการนายจ้าง ซึ่งอยู่ในระหว่าง ฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว การที่นายจ้าง ประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานรวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 109 วัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทนโดยนายจ้าง จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานแก่ลูกจ้างทั้งหมดแล้ว การประกาศหยุดงานจึงชอบด้วยมาตรา 75 นายจ้าง ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติเต็มจำนวนแก่ลูกจ้าง

 

 

 

5.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นกฎหมายที่คุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายจึงให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว(กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75)  แต่ก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างจะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร

 

 

 

นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือ ท. กับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 วัน รวม 31 วัน แม้นายจ้างจะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลง แต่ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของลูกจ้างเป็นการคาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับนายจ้างมีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้าง และบางครั้งนายจ้างขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของนายจ้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของนายจ้างเองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้

 

 

 

6.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548  ประกาศของนายจ้างที่แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของนายจ้างที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง ลูกจ้างยังคงเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 50 สิบของค่าจ้างก็มิใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม มาตรา 75 และบทมาตราดังกล่าวก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว การที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำผิดตาม มาตรา 119 ลูกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

 

 

 

7.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2548  ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะหยุดกิจการของตนได้โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) แต่ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการนายจ้างได้ ดังนั้น การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยลูกจ้างแบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กุล่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร คือในระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 และระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง

 

 

 

8.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078 - 6199/2549  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีกเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำได้รับความเดือดร้อน เหตุที่นายจ้างจะยกความจำเป็นขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หาใช่ว่าจะต้องมาจากสาเหตุที่นายจ้างประสบปัญหาการขาดทุนเพียงประการเดียวไม่

 

 

การที่กิจการของนายจ้างซึ่งผลิตเครื่องหนังโดยมีเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศต้องผลิตตามคำสั่งซื้อตามความประสงค์ของผู้สั่งซื้อโดยไม่อาจเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและขาดช่วง เพราะต้องรอวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ต้องรอวัตถุดิบในการผลิต นายจ้างจึงต้องปิดโรงงานผลิตไปบางส่วน และหยุดกิจการบางส่วนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ อันเป็นความจำเป็นที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก นายจ้างย่อมหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 นี้

 

 

9.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6703 - 6752/2549 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วยเพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้

 

 

การที่นายจ้างให้บริษัท ย. เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทนายจ้าง รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดของนายจ้าง เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่นายจ้างเคยผลิตอยู่ก่อนแทนนายจ้างนั้น นายจ้างจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้นายจ้างจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2  นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543  หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัท ย. แห่งเดียว เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานนายจ้างคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างไว้และยังตกลงกันไม่ได้


ประกอบกับอาคารโรงงานนายจ้างผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 นายจ้างเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งลูกจ้างทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 นายจ้างก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก นายจ้างไม่มีงานให้ทำ


ย่อมแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่นายจ้างให้บริษัท ย.เช่าโรงงานทั้งหมดแล้วนายจ้างคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น นายจ้างหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง

 

 

เขียนโดยอาจารย์วิไลพรรณ  เจสะวะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี (เผยแพร่ในวารสารรพีรำลึกของคณะฯ ประจำปี 2552)



22/Jun/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา