ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

“ลูกจ้างทำงานบ้าน” ซึ่งเปิดเป็นร้านเสริมสวย และต้องทำงานในร้านเสริมสวยด้วย ถือว่าเป็นลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เนื่องจากเป็นประเภทงานบ้านที่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย เมื่อเลิกจ้างต้องได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายทุกประการ

โดยคดีนี้ความน่าสนใจ คือ ศาลฎีกาวินิจฉัยนอกสำนวน กล่าวคือ คดีดังกล่าวนี้เป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ต้องนำมาใช้ในคดีแรงงานด้วย โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามมิให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน

 

คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ศาลชั้นต้นพลาด แต่ทั้งโจทก์และจำเลยมองไม่เห็น จึงไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นไปในประเด็นนี้ คงอุทธรณ์ในประเด็นอื่น

 

ในการพิจารณาของศาลฎีกาในประเด็นอื่น ศาลฎีกามองเห็นจึงหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเอง ด้วยเห็นว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั่นเอง

 

อ้างอิงจากวารสารกฎหมายแรงงานประจำเดือนมิถุนายน 2553 ระบุว่า

 

(1) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน การพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าจ้างเกินสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมายจึงเป็นการมิชอบ

 

(2) เดิมโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,500 บาท ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนเช่นกัน

 

(3) คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3545/2552

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตั้งแต่ปี 2536 ให้ทำหน้าที่ซักผ้าเช็ดผม ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,500 บาท ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายและโจทก์มิได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,330 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 56,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,210 บาท และค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีที่พักอาศัยและมีบุตรอายุเพียง 5  ปี จำเลยจึงให้โจทก์มาอาศัยอยู่ในบ้านโดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษาแก่บุตรของโจทก์

 

ต่อมาปี 2547 มีบุคคลอื่นมาเช่าบ้านจำเลยเปิดร้านทำผม โจทก์จึงทำงานกับบุคคลดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งต้นเดือนธันวาคม 2547 จำเลยบอกให้โจทก์ย้ายออกเพื่อเอาห้องพักให้แก่บุตรของโจทก์ที่เพิ่งสมรส โจทก์ไม่พอใจได้เรียกค่าขนย้ายจำนวน 50,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมให้ ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจำนวน 2,210 บาท จ่ายค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15  ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้อง (14 ธันวาคม 2547) จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,330 บาท จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อประมาณปลายปี 2536 นางสาวอรทัย ศรีสังข์ น้องสาวต่างมารดาของจำเลยพาโจทก์มาฝากทำงานบ้านกับจำเลย ซึ่งในขณะนั้นเปิดเป็นร้านเสริมสวย โดยให้เงินเดือนโจทก์เดือนละ 6,000 บาท และให้โจทก์ทำงานบ้าน ซักผ้า กวาดร้านทำผม

 

ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่

 

เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานบ้านโดยให้โจทก์ซักผ้า ทำงานบ้าน กวาดร้านทำผม และซักผ้าเช็ดผม ถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย การให้โจทก์ทำความสะอาดและซักผ้าเช็ดผม ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในสถานประกอบการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

จำเลยอุทธรณ์ว่า จากคำเบิกความพยานโจทก์จำเลยและเอกสารหมาย ล.2 ฟังได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งแม่บ้าน มีหน้าที่ทำงานบ้าน ซักผ้า และทำอาหาร แยกส่วนกันกับร้านเสริมสวย โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานบ้านจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เห็นได้ว่า เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทำเพียงงานบ้านไม่ได้ทำงานในส่วนของร้านเสริมสวยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่ เพียงใด

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 คิดเป็นเงิน 2,210 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วตามคำเบิกความของโจทก์และใบรับเงินเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่า

 

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง จึงมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้ เมื่อจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ซึ่งโจทก์ขอคิดเป็นเงินเพียง 2,210 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายดังกล่าวให้แก่โจทก์

 

แต่ตามข้อเท็จจริงในสำนวนที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.1 ที่คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วจำนวน 1,344 บาท และโจทก์ลงลายมือชื่อรับเงินไว้เป็นหลักฐานในบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.1 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวอีกจำนวน 2,210 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนและพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าจ้างเกินสิทธิที่จะได้ตามกฎหมายจึงเป็นการมิชอบ

 

และที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้ โจทก์เดือนละ 6,000 บาท นั้น ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์และ คำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ได้ค่าจ้างเดือนละ 3,500 บาท และจำเลยยอมรับในอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,500 บาท ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนเช่นกัน

 

ทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ฟังได้ว่าโจทก์ได้ค่าจ้างเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่โจทก์ต้องได้รับวันละ 170 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 9 วัน คิดเป็นเงิน 1,530 บาท โจทก์ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายไปแล้ว 1,344 บาท ยังเหลือค่าจ้างค้างจ่ายที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์เพียง 186 บาท

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สามมีว่า โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า

 

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2539 นับถึงวันเลิกจ้างโจทก์ทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ถึงสิบปีได้ค่าชดเชยสองร้อยสี่สิบวัน และกำหนดค่าชดเชยให้เป็นเงิน 51,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ จำเลยอุทธรณ์ว่าจากคำเบิกความพยานจำเลยฟังได้ว่าโจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อจำเลยเปิดร้านเสริมสวยต่อจากบุคคลอื่นในปี 2546   โจทก์ทำงานครบหนึ่งปีแต่ไม่ถึงสามปีได้ค่าชดเชยเพียงเก้าสิบวันคิดเป็นเงินไม่เกิน 15,300 บาท เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางในเรื่องเวลาทำงานของโจทก์เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายในการกำหนดจำนวนค่าชดเชย

 

จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

แต่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท เป็นการเกินสิทธิตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 170 บาท เป็นเวลา 240 วัน คิดเป็นเงินเพียง 40,800 บาท เท่านั้น

 

ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เพียงใด

 

จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เมาสุรา ด่าว่า ดูหมิ่นจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และศาลแรงงานกลางก็ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมสูงเกินไปนั้น เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

 

สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ 8,330 บาท สูงเกินไปเมื่อเทียบกับเงินเดือนโจทก์ที่ได้รับเดือนละ 3,500 บาท เห็นว่า

 

โจทก์ถูกเลิกจ้างในวันที่ 10 ธันวาคม 2547 จ่ายค่าจ้างกันทุกวันสิ้นเดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไรท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน"

 

ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวการเลิกจ้างของจำเลยจึงมีผลเลิกสัญญากันในวันที่ 31 มกราคม 2548 เมื่อนับตั้งแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 10 ธันวาคม 2547 จนถึงวันที่มีผลเลิกสัญญากันคือวันที่ 31 มกราคม 2548 เป็นเวลา 52 วัน ค่าจ้างคิดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 170 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 8,840 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 8,330 บาท ตามที่โจทก์ขอ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย  186  บาท  และค่าชดเชย  40,800  บาท  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 

(ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - ไพโรจน์ วายุภาพ )



15/Jul/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา