ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่างานที่ทำอยู่เข้าข่าย “สัญญาจ้างแรงงาน” หรือ “สัญญาจ้างทำของ” : มองผ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 7699/2551

สาระสำคัญของคำพิพากษา

 

ข้อเท็จจริง

  • โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่  19/2548  ลงวันที่  25  กุมภาพันธ์  2548  วินิจฉัยว่า   นายจักรกฤษณ์ ชุ่มผึ้ง  เป็นลูกจ้างของโจทก์  ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน  6,166   บาทค่าล่วงเวลา 8,530 บาท รวมเป็นเงิน 14,696 บาท แก่นายจักรกฤษณ์

 

 

  • โจทก์ได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่  4  มีนาคม 2548 แต่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของจำเลย นายจักรกฤษณ์มิใช่ลูกจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน   พ.ศ.2541 โจทก์เพียงว่าจ้างให้นายจักรกฤษณ์ให้บริการขับรถยนต์ตามสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา   587  โจทก์ไม่มีอำนาจบังคับบัญชานายจักรกฤษณ์ให้ทำงานอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้างได้ ตามสัญญาว่าจ้างให้บริการข้อ 4 ยังแสดงให้เห็นว่า หากงานไม่สำเร็จ นายจักรกฤษณ์จะไม่ได้รับค่าจ้างและต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สำเร็จของงานให้แก่โจทก์ด้วย

 

 

  • ในระหว่างปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างนายจักรกฤษณ์เจตนาทำให้ทรัพย์สินของโจทก์และผู้อื่นเสียหายโดยเมื่อวันที่ 25  ธันวาคม  2547 นายจักรกฤษณ์ขับรถยนต์ของโจทก์หมายเลขทะเบียนษศ  6893  กรุงเทพมหานคร เพื่อนำผู้จัดการของโจทก์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปโรงแรมเวสท์อินน์ นายจักรกฤษณ์ขับรถพุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน  ษณ  9260  กรุงเทพมหานคร รถยนต์หมายเลขทะเบียน  ษข  8049กรุงเทพหมานคร  และรถยนต์หมายเลขทะเบียน  ปล  5837 กรุงเทพมหานครโดยเจตนา ทำให้รถยนต์ทั้งสี่คันได้รับความเสียหาย     

 

 

  • บริษัทศรีเมืองประกันภัยจำกัดเรียกร้องให้โจทก์ ในฐานะเจ้าของรถยนต์คันก่อเหตุชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของนายจักรกฤษณ์    

 

  • โจทก์จึงระงับการจ่ายเงินให้บริการตามสัญญาของนายจักรกฤษณ์ไว้ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น     

 

 

  • คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 19/2548 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 ของจำเลย

 

 

 ข้อเท็จจริงฝั่งจำเลย

 

  • โจทก์เป็นนายจ้างของนายจักรกฤษณ์ ชุ่มผึ้ง 
  • นายจักรกฤษณ์ไม่ยินยอมให้หักค่าจ้างและค่าล่วงเวลาชดใช้ค่าเสียหาย
  • โจทก์จึงไม่สามารถหักเงินค่าจ้างและค่าล่วงเวลาของนายจักรกฤษณ์ได้   
  • คำสั่งของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ไม่มีเหตุเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
  • ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

 

 

ข้อเท็จจริงจากการตรวจสำนวนประชุมปรึกษาจากศาลฎีกาแผนกแรงงาน

  • โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายจักรกฤษณ์ ชุ่มผึ้ง เข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่  8  มีนาคม  2547  ตำแหน่งพนักงานขับรถ   ได้รับค่าจ้างเดือนละ  5,000บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนโดยจ่ายผ่านธนาคาร มีหนังสือสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย  จล.3  มีวันเวลาทำงานคือวันจันทร์ถึงวันเสาร์  ตั้งแต่เวลา  8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา  หยุดวันอาทิตย์   

 

 

  • เมื่อวันที่  25  ธันวาคม  2547   นายจักรกฤษณ์ขับรถยนต์ของโจทก์หมายเลขทะเบียน ษศ 6893 กรุงเทพมหานคร เพื่อนำผู้จัดการโจทก์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปโรงแรมเวสท์อินน์ กรุงเทพมหานคร  นายจักรกฤษณ์ขับชนรถยนต์อื่นจำนวน  3  คัน ทำให้รถยนต์ของโจทก์และรถยนต์คู่กรณีทั้งหมดได้รับความเสียหาย ตามเอกสารหมาย จล.4 และจล.5

 

 

  • พนักงานสอบสวนสอบสวนที่เกิดเหตุแล้วมีความเห็นว่า นายจักรกฤษณ์ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  เปรียบเทียบปรับ 1,000  บาท นายจักรกฤษณ์ยินยอมชำระค่าปรับ 

 

 

  • ต่อมาวันที่  27  ธันวาคม 2547 นายจักรกฤษณ์เข้าบริษัทเพื่อปฏิบัติหน้าที่  นายวจีเทพ  สาสิงห์ ผู้บังคับบัญชาแจ้งว่าโจทก์เลิกจ้างแล้วโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป อ้างเหตุว่านายจักรกฤษณ์เจตนาทำให้ทรัพย์สินของบริษัทได้รับความเสียหาย โดยบอกเลิกจ้างด้วยวาจา และโจทก์คงค้างจ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด ค่าแท็กซี่นับแต่วันที่  20  พฤศจิกายน  2547  ถึงวันที่  25  ธันวาคม  2547    แก่นายจักรกฤษณ์เป็นเงิน 14,323.33  บาท 

 

 

  • ต่อมาวันที่  29  ธันวาคม 2547 นายจักรกฤษณ์ยื่นคำร้องต่อจำเลยว่าโจทก์ไม่จ่ายค่าจ้าง จำเลยเรียกโจทก์มาชี้แจงโจทก์มอบหมายให้นายวจีเทพเป็นผู้ให้ถ้อยคำ เลยสอบถ้อยคำนายจักรกฤษณ์และตัวแทนโจทก์แล้วบันทึกคำให้การไว้ โดยตัวแทนโจทก์นำสำเนาหนังสือสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนายจักรกฤษณ์ และสำเนาบันทึกถ้อยคำที่นายจักรกฤษณ์ให้แก่ตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์มามอบให้เป็นพยานหลักฐาน         

 

 

  • ส่วนนายจักรกฤษณ์นำเอกสารรายการค่าจ้างค้างจ่าย สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีในวันเกิดเหตุและสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าปรับมาแสดง

 

 

  • หลังสอบพยานบุคคลและพยานเอกสารแล้ว เห็นว่าโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของนายจักรกฤษณ์และค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาแก่นายจักรกฤษณ์จริง จึงมีคำสั่งที่ 19/2548   ลงวันที่  25  กุมภาพันธ์ 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาแก่นายจักรกฤษณ์เป็นเงิน 14,696  บาท  ได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์และนายจักรกฤษณ์ทราบ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบจึงนำคดีมาฟ้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย รายละเอียดตามสำเนาการสอบสวนเอกสารหมาย จล.6

 

 

  • โจทก์ยอมรับว่าค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาแก่นายจักรกฤษณ์จริงและยินยอมชำระให้แก่นายจักรกฤษณ์ หากศาลเห็นว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานโดยนายจักรกฤษณ์ยอมรับเงินเท่าจำนวนค้างจ่ายจริงคือ 14,323.33    บาท 

 

 

 

  • ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จากลักษณะงานที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันและตามหนังสือสัญญาได้ความว่า    นายจักรกฤษณ์มีวันเวลาทำงานปกติตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา วันหยุดคือวันอาทิตย์และวันที่โจทก์กำหนดให้เป็นวันหยุด โดยในสัญญายังได้ระบุกฎข้อบังคับว่า หากนายจักรกฤษณ์ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ต้องแจ้งให้โจทก์รับทราบล่วงหน้า หากไม่แจ้งถือว่านายจักรกฤษณ์ขาดงานและจะถูกหักค่าจ้างในวันนั้น  ท้ายสัญญายังระบุว่า  วันไหนที่โจทก์ไม่ได้ใช้บริการ นายจักรกฤษณ์ต้องมาทำหน้าที่อื่นที่โจทก์มอบหมาย  เวลาว่างจากการขับรถ นายจักรกฤษณ์ต้องช่วยทำงานอื่นที่โจทก์มอบหมายให้ทำ  หากนายจักรกฤษณ์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญา    โจทก์จะยกเลิกสัญญาทันทีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า           

 

 

  • แสดงว่าการทำงานของนายจักรกฤษณ์ขึ้นอยู่กับการสั่งงานของโจทก์หากนายจักรกฤษณ์ไม่ปฏิบัติตามมีโทษ คือถูกหักค่าจ้างและถูกเลิกจ้างได้ การทำงานของนายจักรกฤษณ์จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของโจทก์   ค่าบริการขับรถ   ค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดตามที่โจทก์และนายจักรกฤษณ์ตกลงกันนั้น ถือเป็นเงินที่โจทก์ตกลงจ่ายให้แก่นายจักรกฤษณ์  เป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง  รายวัน  รายสัปดาห์   รายเดือนมิใช่ค่าจ้างที่จ่ายให้โดยถือเอาความสำเร็จของการทำงานเป็นสำคัญ 

 

 

  • แม้หนังสือสัญญาข้อ    4    ตอนท้ายจะระบุความว่า หากนายจักรกฤษณ์ขาดงานนายจักรกฤษณ์จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางวันนั้นให้แก่โจทก์และสัญญาข้อ 9  ที่ระบุว่า  กรณีที่นายจักรกฤษณ์ทำการฝ่าฝืนกฎจราจรและมีการเสียค่าปรับนายจักรกฤษณ์จะต้องรับผิดชอบเอง   ยกเว้นโจทก์บอกให้กระทำโจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบเองนั้น      เป็นเพียงข้อสัญญาตกลงความรับผิดชอบของคู่สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้น  มิใช่เป็นข้อแสดงว่าคู่สัญญามีเจตนาถือเอาผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ   

 

 

 

  • จากลักษณะงานและหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์กับนายจักรกฤษณ์ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  มิใช่สัญญาจ้างทำของ   เมื่อโจทก์คงค้างจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาแก่นายจักรกฤษณ์ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าล่วงเวลาให้แก่นายจักรกฤษณ์จำนวน  14,323.33  บาท

 

 

 

  • โจทก์อุทธรณ์ว่า  สัญญาเอกสารหมาย  จล.3  เป็นสัญญาจ้างทำของ  มิใช่สัญญาจ้างแรงงานดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โจทก์ไม่มีอำนาจบังคับบัญชานายจักรกฤษณ์ให้ทำงานอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจ้าง หากนายจักรกฤษณ์ไม่ขับรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญา   โจทก์มีสิทธิเพียงหักเงินค่าบริการในวันนั้น  ทั้งหากนายจักรกฤษณ์ฝ่าฝืนกฎจราจร  นายจักรกฤษณ์ต้องรับผิดชอบเสียค่าปรับเอง  หากนายจักรกฤษณ์ยกเลิกสัญญาโดยไม่แจ้งล่วงหน้า 30 วัน จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น    การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดเพียงเพื่อให้นายจักรกฤษณ์มาทำงานทันเวลาเดินทางของผู้บริหาร      

 

 

 

  • แม้สัญญาระบุว่าหากนายจักรกฤษณ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ สามารถเลิกสัญญาได้ทันทีก็เป็นเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น       มิใช่เป็นการบังคับบัญชา และแม้หมายเหตุท้ายสัญญาระบุว่า ในกรณีผู้บริหารโจทก์เดินทางไปต่างประเทศนายจักรกฤษณ์ต้องมาทำงานในสิ่งที่โจทก์มอบหมายก็เป็นเพียงข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น   หากนายจักรกฤษณ์ไม่ตกลงก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลานั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับนายจักรกฤษณ์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ

 

 

 

  • พิเคราะห์แล้วหนังสือสัญญาเอกสารหมาย  จล.3 เป็นหนังสือสัญญาระหว่างนายจักรกฤษณ์ซึ่งในสัญญาระบุว่าเป็นผู้ให้บริการขับรถฝ่ายหนึ่ง   กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการอีกฝ่ายหนึ่งข้อความในสัญญาแยกเป็นรายหัวข้อดังนี้

 

 

 

  • หัวข้อแรกระบุว่า“ผู้ให้บริการขับรถต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1.ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์เป็นอย่างดีและต้องศึกษาเส้นทางในการเดินรถอยู่เสมอ 2. ดูแลสภาพรถยนต์ให้ใช้งานได้ดีและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ 3. มีความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียรในการทำงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 4. ต้องตรงต่อเวลา เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้ติดต่อผู้ใช้บริการทราบทุกครั้ง 5.  ต้องมีกิริยา  มารยาท  สุภาพ พูดจาไพเราะและแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย”

 

 

 

  • หัวข้อที่สองระบุว่า “กฎข้อบังคับที่ผู้ให้บริการขับรถจะต้องปฏิบัติตาม 1. วันเวลาให้บริการขับรถคือวันจันทร์ถึงวันเสาร์เวลา 8.00 น.  ถึง 17.00  น.   วันหยุดคือวันอาทิตย์และวันที่ผู้ใช้บริการกำหนดให้เป็นวันหยุด  2.  กรณีเกิดการเจ็บป่วยไม่สามารถมาทำงานได้  ให้แจ้งผู้ใช้บริการทราบทุกครั้งก่อนถึงเวลานัดให้มาทำงาน 1 ชั่วโมง 3.   กรณีไม่สามารถมาทำงานได้โดยมีธุระจำเป็น ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าอย่างน้อย3 วัน 4. ในกรณีที่ถึงเวลานัดที่ผู้ใช้บริการนัดล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ผู้ให้บริการไม่มาทำงาน  ผู้ใช้บริการถือว่าผู้ให้บริการขาดงานและจะหักค่าจ้างในวันนั้น  และผู้ให้บริการจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางในวันนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ  5.  ถ้าผู้ให้บริการรู้ว่ามาไม่ทัน ต้องติดต่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงสาเหตุและรับคำสั่งจากผู้ใช้บริการเพื่อดำเนินการต่อไป  6.  หากผู้ให้บริการขับรถและผู้ใช้บริการต้องการจะยกเลิกการให้บริการและใช้บริการจะต้องแจ้งให้แต่ละฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย  30 วัน   7. ถ้าผู้ให้บริการขับรถยกเลิกสัญญานี้ปราศจากการแจ้งล่วงหน้า30 วัน ก่อนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา   ผู้ให้บริการจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายซึ่งมีสาเหตุจากการยกเลิกสัญญาฉบับนี้   เป็นต้นว่า ค่าใช้จ่ายในการสรรหาผู้ให้บริการใหม่    ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ให้บริการเก่ากับผู้ให้บริการใหม่ หรือค่าใช้จ่ายใด  ๆ ที่มีสาเหตุจากการยกเลิกสัญญาของผู้ให้บริการ 8. ... 15.  ภายหลังจากการให้บริการ    ผู้ให้บริการต้องนำรถของผู้ใช้บริการไปจอดยังที่ที่ผู้ใช้บริการกำหนด”

 

 

  • หัวข้อที่สามระบุว่า “ค่าบริการ 1. ค่าบริการขับรถเดือนละ  5,000  บาท  2.  ค่าล่วงเวลาวันทำงานปกติชั่วโมงละ  40  บาท  3.  ค่าล่วงเวลาในวันหยุดชั่วโมงละ 60  บาท  4. ค่าทำงานในวันหยุดเกิน 4 ชั่วโมง 300 บาท  5. ค่าทำงานในวันหยุดน้อยกว่า  4  ชั่วโมง 150  บาท 6. ค่าแท็กซี่หลัง 23.00 น. 100  บาท  ผู้ใช้บริการจะจ่ายเงินให้ทุก  ๆ  สิ้นเดือน โดยเริ่มนับจากวันที่ 21 ถึงวันที่ 20 ของเดือนถัดไป”

 

 

 

 

  • ส่วนหัวข้อสุดท้ายระบุว่า “หมายเหตุกรณีท่านไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญาฉบับนี้     ผู้ใช้บริการจะยกเลิกการให้บริการขับรถของท่านทันทีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า  วันไหนที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้บริการ   เช่น  ไปต่างประเทศผู้ให้บริการต้องมาทำหน้าที่อื่นที่ผู้ใช้บริการมอบหมายเวลาว่างจากการให้บริการขับรถ ผู้ให้บริการต้องช่วยทำงานอื่นที่ผู้ใช้บริการมอบหมายให้ทำ”

 

 

 

  • เมื่อพิจารณาจากข้อความในสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้วางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าในระหว่างที่นายจักรกฤษณ์ขับรถให้โจทก์ นายจักรกฤษณ์จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนในหัวข้อแรกโดยเฉพาะต้องมีความซื่อสัตย์ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้โดยปกติแล้วเป็นคุณสมบัติของลูกจ้างที่นายจ้างในสัญญาจ้างแรงงานประสงค์จะให้ลูกจ้างปฏิบัติ มิใช่คุณสมบัติที่จำเป็นของผู้รับจ้างในสัญญาจ้างทำของ เพราะสัญญาจ้างทำของมุ่งถึงผลสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างนั้นเป็นสำคัญ  

 

 

  • ทั้งเมื่อพิจารณาในหัวข้อที่สองซึ่งเป็นกฎข้อบังคับที่บังคับให้นายจักรกฤษณ์จะต้องปฏิบัติตามแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้นายจักรกฤษณ์ปฏิบัติตาม มีวันเวลาทำงานวันใดวันหยุดวันใด  หากไม่อาจมาทำงานได้จะต้องปฏิบัติอย่างไร หากไม่ปฏิบัติตามนั้นจะมีผลอย่างไร    ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานของนายจักรกฤษณ์โดยแท้ หาใช่นายจักรกฤษณ์ทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้นไม่

 

 

 

  • ทั้งในหัวข้อที่สามในเรื่องค่าบริการแล้วยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเงินที่โจทก์ตกลงจ่ายให้แก่นายจักรกฤษณ์เป็นรายเดือนตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่นายจักรกฤษณ์ทำงานให้โจทก์โดยกำหนดค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุดให้ด้วย     หาใช่โจทก์จ่ายสินจ้างให้นายจักรกฤษณ์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำอันจะเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ ยิ่งไปกว่านั้นในหัวข้อสุดท้ายที่ระบุเป็นหมายเหตุไว้ยังมีข้อความกำหนดไว้ด้วยว่าวันไหนที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้บริการ   เช่น   ไปต่างประเทศ    ผู้ให้บริการต้องมาทำหน้าที่อื่นที่ผู้ใช้บริการมอบหมาย ซึ่งหมายความว่านอกเหนือจากหน้าที่ขับรถตามสัญญาแล้ว  ยังมีกรณีที่นายจักรกฤษณ์ต้องทำงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายอีกด้วย     ค่าตอบแทนในการทำงานจึงมิใช่เพียงเพื่อผลสำเร็จของการงานที่ทำคือการขับรถเท่านั้น   แต่เป็นการจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าเป็นงานหน้าที่ใดโดยกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน            

 

 

 

  • สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนายจักรกฤษณ์จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาจ้างทำของดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

โดยสรุป : ท่านสามารถพิจารณาความแตกต่างของสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ ได้จากตารางด้านล่างนี้

สัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของ

จ่ายค่าจ้างตามวันเวลาทำงาน หรือตามระยะเวลาที่ตกลงกัน

เน้นจ่ายค่าจ้างตามผลสำเร็จของงาน หรือจ่ายตามสัดส่วนของผลสำเร็จตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

เป็นผู้กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีวันหยุดพักผ่อนประจำปี

ผู้ว่าจ้างไม่มีการกำหนดวันหยุดให้ แต่ผู้รับจ้างกำหนดเอง วิธีแก้ไข นำประกาศวันหยุดของผู้ว่าจ้าง มาแก้ไขและเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่

เป็นผู้ควบคุมอนุมัติวันลาป่วย / ลากิจ / ลาต่างๆ

การลาต่างๆขึ้นกับบริษัท ผู้รับจ้างเป็นผู้อนุมัติการลา

กำหนดการทำงานล่วงเวลา และอนุมัติใบล่วงเวลา

ผู้รับจ้าง เป็นผู้จัดสรรการทำงานล่วงเวลาเองไม่เกี่ยวกับผู้ว่าจ้าง วิธีแก้ไข การอนุมัติการทำงานล่วงเวลาให้หัวหน้างานของผู้รับจ้างเป็นผู้อนุมัติ

มีการลงโทษทางวินัย และสั่งให้ปลดหรือเลิกจ้าง

การลงโทษทางวินัยไม่เกี่ยวกับผู้ว่าจ้าง วิธีแก้ไข หัวหน้างานของผู้รับจ้างเป็นผู้ลงโทษ ในกรณีผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องการพนักงานให้ส่งตัวคืน ห้ามเลิกจ้างหรือปลดเอง

เป็นผู้ควบคุมและบังคับบัญชา

ผู้รับจ้างเป็นผู้ควบคุมและสั่งการเองทั้งหมด

กฎระเบียบ / ข้อบังคับ ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยงกับการทำงานของบริษัทผู้ว่าจ้างกำหนดเท่านั้น

กฎระเบียบ / ข้อบังคับ ต้องใช้ของผู้รับจ้าง ไม่สามารถไปใช้กับผู้ว่าจ้าง วิธีแก้ไข นำระเบียบ / ข้อบังคับ ของผู้ว่าจ้างมาใส่เพิ่มเติม และให้เพิ่มเป็นระเบียบการทำงานของผู้รับจ้าง

สวัสดิการให้ใช้ร่วมกันได้

ไปใช้สวัสดิการร่วมกันไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าเป็นนายจ้าง วิธีแก้ไข ให้ทำสัญญาแนบท้ายการขอใช้สิทธิด้วย เช่น รถรับส่ง ห้องพยาบาล ห้องอาหาร ห้องน้ำ

1เลิกจ้างโดยมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 ของพรบ.คุ้มครองแรงงาน ต้องจ่ายค่าชดเชย ถ้าผู้รับเหมาค่าแรงไม่จ่าย นายจ้างเสมือนเป็นนายจ้างร่วมกัน ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาแรงงาน

เลิกจ้างเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับจ้างโดยตรง เพราะไม่สามารถไปเกี่ยวข้องกับผู้ว่าจ้างได้ เพราะผู้ว่าจ้างมิใช่นายจ้างของพนักงานผู้รับจ้าง

ลูกจ้างต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

ผู้รับจ้าง มีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาก็ได้

นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้าง

ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาผู้รับจ้าง

ลูกจ้างได้รับค่าจ้างแม้ยังไม่มีผลสำเร็จของงาน

ผู้รับจ้างได้สินจ้างเมื่อทำงานจนผลสำเร็จ

กรณีลูกจ้างละเมิดต่อบุคคลภายนอกจากงานทางการจ้าง นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง

กรณีผู้รับจ้างละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิด

นายจ้างเป็นผู้จัดหาเครื่องมือให้แก่ลูกจ้าง

ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาเครื่องมือมาเอง

ค่าจ้างต้องจ่ายเป็น"เงิน"เท่านั้น

 
 
 
 
 


18/Aug/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา