ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

นายจ้างไม่สามารถมีข้อตกลงเรื่องการห้ามตั้งครรภ์กับพนักงานได้

สืบเนื่องจากที่มีสื่อมวชนหลายสำนัก ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 กรณีที่หัวหน้างานแผนกหนึ่งในโรงพยาบาลราชวิถี ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ ได้มีประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ในแผนกตั้งครรภ์หรือท้อง โดยมีการติดประกาศไว้ที่แผนกจ่ายยาของโรงพยาบาลดังกล่าว ว่า “ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.57-31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่าน ให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย” เนื่องจากแผนกดังกล่าวนี้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการตั้งครรภ์พร้อมๆ กันหลายคน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงาน

 

จากกรณีดังกล่าว ทางสำนักงานทนายความและที่ปรึกษากฎหมายพรนารายณ์และเพื่อน พบว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า “นายจ้างไม่สามารถมีข้อตกลงเรื่องการห้ามตั้งครรภ์กับพนักงานได้” กล่าวคือ

 

เมื่อปี 2549 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2549 ที่ระบุชัดเจนว่า การที่บริษัทมีข้อตกลง (สัญญา)ห้ามพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตั้งท้อง ไม่สามารถนำสัญญาดังกล่าวนี้มาใช้บังคับกับพนักงานได้ เนื่องจากขัดกับ พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ร่วมด้วย ที่ระบุไว้ว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

 

 

สรุปย่อสาระสำคัญของคำพิพากษา มีดังนี้

 

(1) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเพศหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

 

(2) ได้มีข้อตกลงระหว่างนายจ้างและพนักงาน (ลูกจ้าง) ตามสัญญาจ้างพนักงานตอนรับบนเครื่องบินที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มสัญญา หากพนักงาน (ลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญา

 

(3) ในสัญญาได้ระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่นายจ้างกำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องจึงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

(4) ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ที่กำหนดว่า เมื่อพนักงาน(ลูกจ้าง)ได้กระทำการผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ กรณีร้ายแรงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน(ลูกจ้าง)ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงาน(ลูกจ้าง)บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่าพนักงาน(ลูกจ้าง)ตั้งครรภ์

 

(5) ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

 

 

 

 

สำหรับคำพิพากษาฉบับเต็ม มีรายละเอียดดังนี้

               

 

โจทก์       บริษัทแอร์ อันดามัน จำกัด

จำเลย     นายสุรเชษฐ วิริยะศิริกุล

 

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2545 โจทก์ได้ว่าจ้างนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส ทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งนางสาวสาวิตรีทราบดีว่ามีลักษณะงานเป็นการเฉพาะ ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ บุคลิกภาพดี มีความรู้เฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน จึงตกลงว่าหากนางสาวสาวิตรีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจ้างให้ถือว่านางสาวสาวิตรีบอกเลิกสัญญาจ้าง และภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง

 

 

 

ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้โทรศัพท์มาลางานกับหัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจ้ง ว่าป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ แล้วขาดงานไปจนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2546 รวม 11 วัน หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจึงมีหนังสือแจ้งการขาดงานของนางสาวสาวิตรีต่อฝ่ายบุคคลของโจทก์

 

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจึงติดต่อนางสาวสาวิตรีให้เข้าพบ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 นางสาวสาวิตรีได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโจทก์ทราบว่าตั้งครรภ์พร้อม กับยื่นใบรับรองแพทย์ซึ่งยืนยันว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจึงแจ้งให้นางสาวสาวิตรีทราบถึงข้อตกลงที่ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างและนำเรื่องเสนอต่อผู้มีอำนาจของโจทก์ พร้อมทั้งนำข้อตกลงไปปรึกษากับนักกฎหมาย เรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่นางสาวสาวิตรีไม่มาทำงานให้โจทก์และไปร้องต่อจำเลยว่าโจทก์เลิกจ้าง ทั้ง ๆ ที่นางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ได้เป็นกรณีที่โจทก์เลิกจ้าง โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

 

แต่จำเลยกลับมีคำสั่งที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรีโดยนำค่าชั่วโมงบินนับแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 เฉลี่ยเดือนละ 12,187 บาท ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์จ่ายค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อ ได้ปฏิบัติงานบนเครื่อง ไม่ใช่ค่าจ้าง มาคำนวณค่าชดเชยด้วย อันเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรี ชัยพนัส

 

จำเลยให้การว่า ข้อตกลงเรื่องการตั้งครรภ์ระหว่างโจทก์กับนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส กำหนดไว้ด้วยว่า หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงานให้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จะเปลี่ยนงานให้ตามความเหมาะสมโดยได้รับค่าจ้างหรือให้ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างจนกว่าจะคลอด

 

 

นางสาวสาวิตรีได้เข้ารับการตรวจจากแพทย์พบว่าตั้งครรภ์และประสบภาวะแท้งคุกคาม แพทย์ให้พักรักษาตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป วันที่ 29 ตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้ยื่นใบรับรองผลการตรวจครรภ์ดังกล่าวต่อฝ่ายดูแลจัดตารางการบินของโจทก์ และเข้าพบเจรจากับผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลและธุรการของโจทก์แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งงาน แต่โจทก์ไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งงานให้ได้ และเมื่อตารางการบินของเดือนพฤศจิกายน 2546 ออกมาปรากฏว่าไม่มีชื่อนางสาวสาวิตรีอยู่ในแผนกการบิน นางสาวสาวิตรีจึงไม่ได้ทำงานในแผนกใดนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546

 

 

นางสาวสาวิตรีและโจทก์ได้เจรจากัน โดยโจทก์ทราบแล้วว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง อันเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือนางสาวสาวิตรี โจทก์ได้เสนอให้นางสาวสาวิตรีเขียนใบลาออกโดยให้มีผลในอีก 1 เดือนข้างหน้าหรือวันที่ 11 ธันวาคม 2546 โดยโจทก์จะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติและนางสาวสาวิตรีไม่ต้องไปทำงาน แต่นางสาวสาวิตรีไม่ตกลงและหาข้อยุติไม่ได้

 

เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ให้แก่นางสาวสาวิตรี จึงเป็นการเลิกจ้างนางสาวสาวิตรีเนื่องจากนางสาวสาวิตรีผิดสัญญาจ้างตั้ง ครรภ์ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรี

 

นางสาวสาวิตรีทำงานตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2545 ติดต่อกันจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 รวม 1 ปี 10 เดือน ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 8,000 บาท กับค่าชั่วโมงบินเพื่อปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือน ซึ่งโจทก์จ่ายให้ตามระยะทางของเส้นทางการบินประกอบจำนวนชั่วโมงบินในแต่ละ เที่ยวบิน อันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของนางสาวสาวิตรีซึ่งเป็นค่าจ้าง ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้รับค่าชั่วโมงบินจำนวน 10,564 บาท 9,979 บาท และ 16,019 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 36,562 บาท คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้นางสาวสาวิตรีจำนวน 60,561 บาท จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวสาวิตรี ชัยพนัส เป็นลูกจ้างโจทก์ เข้าทำงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2545 ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 8,000 บาท กับชั่วโมงบินเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนอีกจำนวนหนึ่ง ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้รับค่าชั่วโมงบินเป็นเงินเดือนละ 10,564 บาท 9,979 บาท และ 16,019 บาท ตามลำดับ

 

 

และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อกำหนดในสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงานตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญา เป็นข้อกำหนดที่ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่พนักงานเกิดการตั้งครรภ์ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะไม่อาจใช้บังคับแก่นางสาวสาวิตรีได้

 

 

ที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ไม่ได้เลิกจ้างนางสาวสาวิตรี นางสาวสาวิตรีไม่มาทำงานให้โจทก์เพราะนางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา พร้อมกับไม่มาทำงานถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น

 

 

โจทก์ไม่ได้ให้การและแสดงพยานหลักฐานให้เห็นเช่นนั้นไว้ในชั้นสอบสวนของ พนักงานตรวจแรงงาน เพิ่งกล่าวอ้างในคำฟ้อง เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ไม่อาจรับฟังให้ขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ ให้การไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานได้ ชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน

 

นางวิไลวรรณ ศรีษเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลของโจทก์ในฐานะตัวแทนฝ่ายโจทก์ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 3 ว่า โจทก์ได้เลิกจ้างนางสาวสาวิตรีเพราะเหตุนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงต้องรับฟังว่าโจทก์เลิกจ้างนางสาวสาวิตรี เมื่อไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างของโจทก์ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรี ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า

 

 

การปฏิบัติงานบนเครื่องบินก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของนางสาวสาวิตรี และโจทก์จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการปฏิบัติงานบน เครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานแก่นาง สาวสาวิตรี จึงเป็นค่าจ้าง การที่จำเลยนำเงินค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับ 90 วันสุดท้ายก่อนที่มีการเลิกจ้างมาคำนวณรวมเป็นค่าชดเชยให้โจทก์จ่ายให้แก่

 

นางสาวสาวิตรีจึงถูกต้องแล้ว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 5/2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรีจำนวน 60,561 บาท จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง

 

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่ว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน (ซึ่งหมายถึงนางสาวสาวิตรีลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่

 

 

เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้าง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

 

 

พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่อง บินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญา เป็นข้อตกลงที่ต่อเนื่องเกี่ยวกันกับข้อตกลงในเรื่องสภาพการจ้างการสิ้นสุด ของสัญญาและการตั้งครรภ์ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 2. ข้อ 5.2.2 และข้อ 6 ซึ่งสรุปได้ว่า

 

คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อน รับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบิน ได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการ ฝึกอบรมและปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรค ต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

 

ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตามข้อ 6.1 ขึ้นเป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 5.2.2 กำหนดว่า เมื่อนางสาวสาวิตรีได้กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในข้อ 2 กรณีร้ายแรง ให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงในข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญานั้น

 

 

มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือ เมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ 6.1 เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะนาง สาวสาวิตรีมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ค่าชั่วโมงบินเป็นค้าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปฏิบัติงานบนเครื่องบินเป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติ ของนางสาวสาวิตรี แม้ค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและ ไม่เท่ากัน แต่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการ ปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนทุกเดือน ตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวสาวิตรีเป็นการ ตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงของวัน ทำงาน จึงเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่จำเลยนำค่าชั่วโมงบินมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

 

พิพากษายืน

 

 

 

        

 

 

 



10/Nov/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา