ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

สถานประกอบการหรือนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาพนักงาน ในที่นี้รวมถึงการกำหนดสถานที่ทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน

แม้จะปรากฏว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างรับพนักงานกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราค่าจ้างเดิม

 

แต่ในเมื่อปรากฏว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้ระบุว่า นายจ้างต้องมอบหมายงานให้พนักงานทำในสถานประกอบการหรือโรงงานเดิมเท่านั้น เพราะนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาพนักงานของตนเองได้

 

อีกทั้งยังปรากฏว่าการมอบหมายงานให้แก่พนักงานก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระ หรือเป็นการกลั่นแกล้งพนักงานแต่อย่างใด

 

ดังนั้นการที่นายจ้างให้พนักงานไปทำงาน ณ โรงงานอื่น ซึ่งเป็นของนายจ้างเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่โรงงานเดิมที่พนักงานเคยทำงาน ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานเดิม 2 กิโลเมตร โดยพนักงานยังคงทำงานในตำแหน่งเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิมในอัตราค่าจ้างเดิม

 

ก็ถือได้แล้วว่าองค์กรได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทุกประการแล้ว

 

พนักงานไม่สามารถบังคับให้ องค์กรรับพนักงานกลับไปทำงานยังโรงงานเดิมที่พนักงานเคยทำได้

 

 

อ้างอิงจากคำพิพากษาฎีกาที่ 3801-3842/2553 โดยโจทก์ ได้แก่นายทักษิณ ชื่นชม ที่ 1 กับพวก 24 คน  ส่วนจำเลย ได้แก่ บริษัทไทยซัมมิท อิสเทิร์น ซีบอร์ด โอโตพาร์ทอินดัสตรี 

 

โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ยื่นฟ้องจำเลยว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 329-577/2550 และถือว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2550 ไม่ให้โจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและได้รับสิทธิในการทำงานล่วงเวลา

 

ซึ่งก่อนหน้าที่จำเลยจะประกาศปิดงานนั้น โจทก์ได้ทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยประมาณเดือนละ 70 ชั่วโมง ปัจจุบันจำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานล่วงเวลาเลย ทั้งๆที่ พนักงานคนอื่นของจำเลยที่ไม่ได้ถูกปิดงานก็ยังคงทำงานล่วงเวลาได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 70 ชั่วโมง ถือว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางไม่เป็นคุณกับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่

 

ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยให้จำเลยเลิกกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ โดยให้จำเลยรับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิมในสถานที่ทำงานเดิม ก่อนที่จะมีการปิดงานวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2550

 

ทั้งให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานล่วงเวลาได้ไม่น้อยกว่า 70 ชั่วโมง หรือเช่นพนักงานอื่นของจำเลย และให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 329-577/2550 ให้จำเลยเลิกการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิมและสถานที่เดิม            

 

จำเลยให้การว่า บันทึกฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2550 มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามความในมาตรา 5 แห่ง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกรณีที่จำเลยกับสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า แห่งประเทศไทย สมัครใจตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน

 

จำเลยจัดงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำที่โรงงาน 3 ไม่ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ และถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 329-577/2550 แล้ว

 

เพราะคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวให้จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งแล้วให้มอบหมายให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานที่โรงงานดังกล่าว ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับรองแล้ว ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว

 

โจทก์ยี่สิบสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานล่วงเวลาเดือนละ 70 ชั่วโมง เพราะการอนุญาตให้พนักงานทำงานล่วงเวลานั้นขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งถือเป็นอำนาจการบริหารการจัดการของจำเลย

 

ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหากไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ ขอให้ยกฟ้อง                  

 

ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบสี่สำนวน โจทก์ทั้งยี่สิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา 

               

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัย วันเริ่มเป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ละคน  ค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนคือ เงินเดือน  เบี้ยกันดาร  วันที่จ่ายค่าจ้างแต่ละคน  เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน

 

สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549  ข้อเรียกร้องไม่สามารถตกลงกันได้  ทั้งสองฝ่ายสมัครใจตั้งผู้ชี้ขาดแรงงาน  ตามสำเนาบันทึกฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2550 โจทก์ทั้งยี่สิบสี่และลูกจ้างอีกประมาณ 200 กว่าคน  ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

 

คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 329-577/2550  ให้จำเลยมอบหมายงานให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่และลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง 

 

หลังจากนั้นจำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  มีการมอบหมายงานให้ทำที่โรงงาน 3 ซึ่งไม่ใช่สถานที่เดิมที่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่และลูกจ้างผู้ยื่นข้อเรียกร้องเคยทำงานอยู่ 

 

ต่อมาประธานสหภาพแรงงานได้มีหนังสือและขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ได้มีการประชุมร่วมกันและได้มีการมาตรวจสอบสถานที่ทำงานโรงงาน 3  ถือว่าจำเลยได้มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำแล้วตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

 

การมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานที่โรงงาน 3 ตำแหน่งหน้าที่เดิม  โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวให้ความเห็นว่า  ให้จำเลยจัดการให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิมและตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2550

                 

                       

มีปัญหาต้องวินิฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ว่า จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 329-577/2550 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550  ที่ให้จำเลยมอบหมายงานให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ถูกต้องแล้วหรือไม่ 

 

เห็นว่า  หลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งแล้ว  จำเลยรับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม  หรือไม่ต่ำกว่าเดิม  ในอัตราค่าจ้างเดิม  แต่ให้ไปทำงานที่โรงงาน 3 เป็นโรงงานของจำเลยอีกแห่งหนึ่ง ห่างจากโรงงานเดิมที่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่เคยทำงานอยู่ก่อนที่จำเลยจะประกาศปิดงานประมาณ 2 กิโลเมตร 

 

ซึ่งตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่และผู้ยื่นข้อเรียกร้องทำนั้นไม่ได้ระบุว่าต้องมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำในสถานประกอบการหรือโรงงานเดิม 

 

เพราะนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาลูกจ้าง  ซึ่งนายจ้างอาจมีเหตุผลอื่นที่จำเป็นและสมควรในการบริหารงานของตนเองได้ 

 

ทั้งการมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำก็ไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ หรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งยี่สิบสี่อย่างไร

 

ดังนั้นการที่จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ทำงานในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ากว่าเดิมในอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม  แม้ไม่ใช่สถานประกอบการหรือโรงงานเดิมแต่เป็นสถานประกอบการหรือโรงงานของจำเลยก็ถือได้ว่า 

 

จำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว  ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย  อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ฟังไม่ขึ้น 

 

พิพากษายืน



04/Feb/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา