ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ทำงานในโรงแรมแล้วด่าหรือว่าลูกค้า ซึ่งในกฎระเบียบได้เขียนห้ามกระทำการดังกล่าวไว้แล้ว แม้ถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมหรือรับกลับเข้าทำงานแค่อย่างใด

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3177/2545

 

คำพิพากษาย่อ (ย่อสั้น)


ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขนกระเป๋าในโรงแรมของจำเลย มัคคุเทศก์ได้นำรถตู้มารับแขกกลุ่มหนึ่ง โจทก์ได้พูดกับมัคคุเทศก์ว่า "แขกเลว ๆ อย่างนี้อย่าพามาที่นี่เลย" สาเหตุเพราะแขกและเด็ก ๆ กลุ่มดังกล่าวเป็นชาวตะวันออกกลางและเด็ก ๆ ซุกซนมาก ขณะรอรถได้ใช้ก้อนหินขว้างปานกเป็ดน้ำและปลาในบ่อ โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่เชื่อฟัง

 

เมื่อธุรกิจโรงแรมต้องให้บริการแก่แขกอย่างดีที่สุดพนักงานของโรงแรมต้องพูด สุภาพและแสดงกิริยามารยาทด้วยความอ่อนน้อม จึงถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8 วรรคท้ายแล้ว

 

แต่การใช้คำพูดดังกล่าวแม้จะไม่เหมาะสมแต่โจทก์กล่าวไปด้วยอารมณ์โดยไม่ได้ มีเจตนาจะทำให้จำเลยเสียหายหรือเล็งเห็นถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่จำเลย จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย

 

เมื่อการกระทำของโจทก์มิใช่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์


โจทก์เป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรมระดับห้าดาวซึ่งมีหน้าที่หลักตามข้อบังคับการทำงานข้อ 19 ว่าต้องทำดีที่สุดในการรักษาชื่อเสียงของโรงแรมจำเลย

 

การที่โจทก์ใช้คำพูดที่ ไม่เหมาะสมกับมัคคุเทศก์ที่มารับแขกอันเป็นลูกค้าของโรงแรมถือเป็นการฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่ากับโจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ของจำเลย

 

การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิก จ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรง งาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์


จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ 5 วัน เพื่อสอบสวนความผิด เมื่อจำเลยไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายเงินแก่ลูกจ้างระหว่างพักงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างพักงาน 5 วัน ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 116

 

คำพิพากษาฉบับเต็ม (ย่อยาว)



โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2513 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งพนักงานยก กระเป๋า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน

 

วันที่ 2 กันยายน 2543 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และโจทก์มิได้กระทำหรือมีพฤติกรรมใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) ถึง (5)

 

นอกจากนั้นจำเลยยังมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงสภาพการจ้าง กำหนดขั้นตอนการลงโทษทางวินัยไว้ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามระเบียบ ข้อบังคับดังกล่าว อีกทั้งจำเลยมิได้แจ้งสาเหตุในการเลิกจ้างแก่โจทก์ด้วย

 

ดังนั้น การเลิกจ้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

 

โจทก์ทำงานมาเกินกว่า 10 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 92,000 บาท และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำนวน 9,200 บาท

 

จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึงวันที่ 2กันยายน 2543 รวม 5 วัน โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานแก่โจทก์จำนวน 1,533 บาท

 

การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีงานทำ ขาดรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

 

ปัจจุบันโจทก์มีอายุ48 ปี โอกาสที่จะเริ่มต้นหางานใหม่ทำคงเป็นไปได้ยาก โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 30 ปี ระหว่างการทำงาน โจทก์ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยทำความเสียหายให้แก่จำเลย ทั้งไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด

 

ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 92,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,200 บาท และค่าจ้างระหว่างพักงาน 1,533 บาท กับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุ งานต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นรายเดือน ๆละ 9,200 บาท นับแต่วันที่เลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอายุงานคูณด้วยอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นเงิน จำนวน270,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวทั้งหมดนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นกรณี ร้ายแรงและจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย

 

กล่าวคือเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะที่โจทก์กำลังปฏิบัติหน้าที่ยกกระเป๋าของแขกที่เข้าพักในโรงแรม ขึ้นรถตู้ที่มารับโจทก์ได้พูดกับมัคคุเทศก์ของบริษัทดีทแฮล์ม แทร็ฟเวล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนพากลุ่มลูกค้าดังกล่าวมาเข้าพักในโรงแรมว่า "แขกเหี้ย ๆ อย่างนี้อย่าพามาพักที่นี่อีก"

 

การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ใช่เพียงแต่การแสดงมารยาทที่เลวต่อแขกในการ รับรองแขกของโรงแรมเท่านั้น แต่เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการ ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 17 กันยายน 2518 ข้อ 8 วรรคสุดท้าย ข้อ 10.5 และ 10.6 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และ (4) โดยจำเลยไม่จำต้องตักเตือนก่อน

 

และเมื่อเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสภาพ การจ้างปี 2542 และ 2543 ข้อ 25.4

 

จำเลยได้แจ้งสาเหตุที่มีการเลิกจ้างแก่โจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างอย่างชัดเจนและจำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ด้วย

 

การสั่งพักงานและสั่งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อตกลงสภาพการจ้างของจำเลยและได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 92,000 บาท ค่าจ้างระหว่างพักงาน 1,533 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 55,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่

 

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 29 สิงหาคม2543 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขนกระเป๋าในโรงแรมของจำเลย มัคคุเทศก์ของบริษัทดีทแฮล์ม แทร็ฟเวล จำกัด ได้นำรถตู้มารับแขกกลุ่มหนึ่ง โจทก์ได้พูดกับมัคคุเทศก์ดังกล่าวว่า "แขกเลว ๆ อย่างนี้อย่าพามาที่นี่เลย"

 

สาเหตุที่โจทก์ใช้คำพูดลักษณะนี้ก็เพราะแขกและ เด็ก ๆ กลุ่มดังกล่าวเป็นชาวตะวันออกกลาง และเด็ก ๆ ซุกซนมาก ขณะรอรถได้ใช้ก้อนหินขว้างปานกเป็ดน้ำและปลาในบ่อโจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือน แล้วไม่เชื่อฟัง

 

ซึ่งโจทก์เคยได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างานโดยตรงว่า ถ้ามีแขกหรือบุตรของแขกกระทำในลักษณะเช่นนี้ให้ไปแจ้งต่อมัคคุเทศก์ได้โดยตรงตามบันทึกคำให้การของโจทก์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 8

 

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องให้การบริการแก่แขกอย่างที่สุด พนักงานของโรงแรมต้องพูดจาสุภาพและแสดงกิริยามารยาทด้วยความอ่อนน้อมต่อแขก หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าการกระทำของโจทก์ที่ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับมัคคุเทศก์ที่มารับแขก ถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตาม ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8 วรรคท้าย แล้ว

 

แต่การที่โจทก์ใช้คำพูดดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากบุตรแขกชาวตะวันออกกลางใช้ ก้อนหินขว้างปานกเป็ดน้ำและปลาในบ่อของโรงแรม โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วก็ไม่เชื่อฟัง แม้ถ้อยคำที่โจทก์ใช้จะเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแต่โจทก์ได้กล่าวไปด้วย อารมณ์ไม่พอใจในพฤติกรรมที่ไม่สมควรของบุตรแขกชาวตะวันออกกลางโดยไม่ได้เจตนาจะทำให้จำเลยเสียหายหรือทำไปโดยเล็งเห็นถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่จำเลย

 

และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายตามที่จำเลยคาดการณ์

 

กรณีจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย

 

เมื่อการกระทำของโจทก์มิใช่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรง ตามมาตรา 119(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่

 

 

เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรมระดับห้าดาวซึ่งมีหน้าที่หลักตามข้อบังคับการทำงานข้อ 19 ว่าต้องทำดีที่สุดในการรักษาชื่อเสียงของโรงแรมจำเลย

 

การที่โจทก์ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับมัคคุเทศก์ที่มารับแขกอันเป็นลูกค้าของโรงแรมนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่ากับโจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย

 

การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธี พิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

 

จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์หรือไม่

 

เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 116 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้..."

 

และวรรคสองบัญญัติว่า"ในระหว่างการพักงานตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้ แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน"

 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน 2543 รวม 5 วัน เพื่อสอบสวนความผิดปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 7

 

เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายเงินแก่ ลูกจ้างระหว่างพักงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างพักงาน 5 วัน ดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามบทกฎหมายดังกล่าว

 

เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย เดือนละ 9,200 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงานเป็นเงิน 766.66 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินในส่วนนี้เป็นเงิน 1,533 บาท จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานจำนวน 766.66 บาทแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 116

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

คู่ความ

นาย สมเกียรติ มั่นประเสริฐ        โจทก์
บริษัท ไอ.เอช.ซี. (ไทยแลนด์) จำกัด        จำเลย

 

ผู้พิพากษา

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
มงคล คุปต์กาญจนากุล
จรัส พวงมณี

 



31/Oct/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา