ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

แม้นายจ้างจะรับลูกจ้างมาทำงานในตำแหน่งที่จ้าง แต่ไม่เป็นการผูกมัดว่าต้องทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป นายจ้างสามารถสับเปลี่ยนได้ ตราบใดที่ผลประโยชน์ลูกจ้างมิได้ลดลง ถือเป็นการบริหารงานบุคคล ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างแต่อย่างใด

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3539/2536

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

การที่จำเลยรับโจทก์ทั้งหกเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ตลอดมา ไม่เป็นการผูกมัดจำเลยว่าจะต้องให้โจทก์ทั้งหกทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป งานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่แผนกห้องผ้าหรือซักรีดและงานตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดต่างก็ใช้พนักงานระดับต่ำสุดเป็นงานระดับเดียวกันไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ พนักงานสามารถสับเปลี่ยนแผนกได้

 

จำเลยย้ายโจทก์ไปอยู่แผนกทำความสะอาด เพราะพนักงานรีดผ้าโดยเครื่องอัตโนมัติที่ติดตั้งใหม่ไม่ต้องใช้ความชำนาญมากและมีพนักงานจากบริษัทอื่นรับจ้างทำหน้าที่ดังกล่าวในค่าจ้างที่ถูกกว่า เป็นเรื่องที่จำเลยจัดการบริหารงานบุคคลเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์ของโจทก์ทั้งหกก็มิได้ลดลงเมื่อย้ายแผนก

 

และไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งหกเป็นการกลั่นแกล้ง จึงไม่ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง จำเลยมีอำนาจทำได้

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 6

 

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยสมัครทำงานตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่แผนกห้องผ้า จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งหกไปทำงานตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดทั่วไปแผนกแม่บ้าน อันเป็นคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยมิชอบด้วยกฎหมายและผิดสัญญาจ้างเพราะเป็นงานที่มีลักษณะต่ำกว่าที่ทำอยู่เดิม

 

ขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่และให้โจทก์ทั้งหกกลับทำงานตำแหน่งเดิม โดยให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งหกเป็นพนักงานประเภททั่วไประดับ 7 ไม่ใช่พนักงานผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจง เป็นพนักงานที่ใช้ฝีมือน้อยที่สุด มีหน้าที่ดูแลงานทั่วไป และงานอื่นๆที่จำเป็น โจทก์ทั้งหกมีหน้าที่ป้อนผ้าเข้าเครื่องรีดและพับผ้าที่ออกจากเครื่องรีดผ้า

 

ต่อมาจำเลยซื้อเครื่องจักรใหม่มาใช้ในกิจการซึ่งเป็นเครื่องรีดผ้าและพับผ้าด้วยโดยอัตโนมัติ งานที่โจทก์ทั้งหกต้องทำจึงลดลง จำเลยจึงหมุนเวียนหน้าที่ของโจทก์ทั้งหกจากแผนกหนึ่งไปยังแผนกหนึ่งซึ่งเป็นงานในระดับเดียวกันรายได้ไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งเป็นอำนาจในการจัดการบริหารงานของจำเลย และไม่ขัดต่อสัญญาจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อบังคับการทำงาน

 

การหมุนเวียนหน้าที่ของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์ทั้งหกเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ทั้งหกสมัครงานกับจำเลยในตำแหน่งหน้าที่พนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ และจำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานในหน้าที่ดังกล่าว โจทก์ทั้งหกทำงานในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ต้นไม่เคยถูกโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ตำแหน่งหน้าที่การทำงานของโจทก์ทั้งหกย่อมเป็นสภาพการจ้าง คำสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่โจทก์ทั้งหกจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และโจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย

 

พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า

 

ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาหรือมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ทั้งหก แม้ตามสำเนาใบสมัครงานของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 5 เอกสารหมาย จ.1,จ.3, จ.6 และ จ.10 ตามลำดับ จะระบุว่าโจทก์ที่ 1 สมัครทำงานในตำแหน่งพนักงานห้องซักผ้า โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 5 สมัครทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องโจทก์แสดงความประสงค์จะทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น

 

ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศรับสมัครพนักงานในตำแหน่งดังกล่าว เมื่อจำเลยรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เข้าทำงานและให้ทำงานในตำแหน่งงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำสัญญาว่าจะให้โจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่อย่างเดียว เช่นเดียวกับเมื่อจำเลยรับโจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 6 เข้าทำงาน โดยเฉพาะโจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 6 นั้นเมื่อสมัครเข้าทำงานกับจำเลยก็มิได้ระบุว่าจะขอทำงานในตำแหน่งใด แผนกใด ดังสำเนาใบสมัครเอกสารหมาย จ.8 และ จ.13 ตามลำดับ

 

ดังนี้การที่จำเลยจะรับโจทก์ทั้งหกเข้าทำงานและให้ทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ตลอดมา ก็ไม่เป็นการผูกมัดจำเลยว่าจะต้องให้โจทก์ทั้งหกทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ตลอดไป

 

นอกจากนี้งานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่แผนกห้องผ้าหรือซักรีดและตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด แผนกทำความสะอาดต่างก็ใช้พนักงานระดับ 7 ซึ่งเป็นพนักงานระดับต่ำสุดของจำเลยและเป็นพนักงานที่ใช้ฝีมือน้อยที่สุด ดังปรากฏในคู่มือสำหรับพนักงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1

 

แสดงว่า งานของทั้งสองแผนกอยู่ในระดับเดียวกัน และเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ พนักงานในแผนกหนึ่งย่อมสามารถสับเปลี่ยนไปทำงานอีกแผนกหนึ่งได้

 

เหตุที่จำเลยย้ายโจทก์ไปอยู่แผนกทำความสะอาด ก็เพราะพนักงานรีดผ้าโดยเครื่องรีดและพับผ้าอัตโนมัติที่จำเลยติดตั้งใหม่ไม่ต้องใช้ความชำนาญมากดังแต่ก่อน และมีพนักงานจากบริษัทอื่นรับจ้างจำเลยทำหน้าที่ดังกล่าว โดยจำเลยเสียค่าจ้างเพียงคนละ 3,000 บาท ถึง 4,000 บาท ต่อเดือน

 

ส่วนโจทก์ทั้งหกรับเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 6,000 บาท สูงสุด 12,000 บาทเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จำเลยจัดการบริหารงานบุคคลเพื่อลดค่าใช้จ่ายของจำเลย ส่วนค่าจ้างและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งหกเมื่อย้ายไปอยู่แผนกทำความสะอาดก็มิได้ลดลงกว่าเดิม

 

ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงให้เห็นว่า ที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งหกไปอยู่แผนกทำความสะอาดนี้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก

 

จากข้อเท็จจริงต่างๆ ดังได้กล่าวมา

 

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งหกจากแผนกห้องผ้าหรือซักรีดไปอยู่แผนกทำความสะอาดนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างของโจทก์ทั้งหก จำเลยมีอำนาจกระทำได้ไม่ถือว่าโจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811-818/2529 ระหว่างนางมานิตย์ ม่วงศรี กับพวก โจทก์บริษัทแสงทวีอุตสาหกรรมจักรกล จำกัด จำเลย ที่โจทก์ทั้งหกอ้างมาในอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น"

 

พิพากษายืน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20

 

ผู้พิพากษา

ชวลิต พรายภู่

ปรีชา ธนานันท์

สมมาตร พรหมานุกูล

 

รูปประกอบจาก click



04/Jun/2017

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา