ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ทนายความไม่สามารถเดินทางมาศาลทันเวลา และได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว ทั้งคู่ความอีกฝ่ายทราบเรื่อง ถือเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนด ศาลแรงงานต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ไม่ถือว่าเป็นการขาดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042-3043/2560 ระหว่างนายวีระ ออมสิน โจทก์ กับบริษัทโยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด กับพวกจำเลย

 

ข้อเท็จจริงยุติว่าก่อนเวลานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รถยนต์ที่ทนายความจำเลยที่ 1 ขับมาศาลเครื่องยนต์ไม่ทำงาน เนื่องจากสายพานระบบไฟฟ้าขาด ไม่สามารถเดินทางมาทันกำหนด ทนายจำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าหน้าที่ศาล โจทก์และทนายโจทก์ทราบแล้ว

แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนด เป็นการสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด อันมีผลให้ศาลแรงงานภาค 2 ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่มีคำสั่งนั้นใหม่ เสมือนหนึ่งมิเคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41

 

เมื่อเพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดแล้ว ข้อโต้แย้งตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 จึงหมดไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง ค่าจ้างและสวัสดิการเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างระหว่างที่ถูกเลิกจ้างเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,800 บาท ค่าชดเชย 334,710.50 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 42,916.12 บาท รวมเป็นเงิน 433,427 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิด 5,221,484 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

วันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย เวลา 9.45 นาฬิกา โจทก์ ทนายโจทก์มาศาล จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล

 

ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและให้ดำเนินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งต่อมาเลื่อนไปให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 กันยายน 2556 วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ว่า มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา อันเป็นเหตุให้มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้

 

โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอพิจารณาใหม่ขอให้ยกคำร้อง

 

ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 540,510.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย 334,710.50 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,800 บาท นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 10 สิงหาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ว่าการขาดนัดของจำเลยที่ 1 เป็นไปด้วยความจำเป็นและมีเหตุอันสมควรให้เพิกถอนคำสั่งขาดนัดหรือไม่

 

โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าทนายความของจำเลยที่ 1 มีเหตุขัดข้องเดินทางมาศาลไม่ทันกำหนดเนื่องจากระหว่างเดินทางมาศาลรถยนต์ของทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 สายพานระบบไฟฟ้าขาดเครื่องยนต์ไม่ทำงานซึ่งแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ศาลทราบแล้วอันเป็นเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดพิจารณานั้น

 

เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำเบิกความของจำเลยที่ 5 และทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 โดยโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งว่า ช่วงเช้าก่อนเวลานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ระหว่างเดินทางปรากฏว่ารถยนต์ที่ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ขับมาศาลมีเหตุขัดข้องเครื่องยนต์ไม่ทำงานเนื่องจากสายพานระบบไฟฟ้าขาด เป็นเหตุให้ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ไม่สามารถเดินทางมาศาลทันกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย

 

ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงยุติตามคำร้องขอพิจารณาใหม่และคำคัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ว่าทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่อาจเดินทางมาศาลทันกำหนดให้เจ้าหน้าที่ศาล โจทก์และทนายโจทก์ทราบด้วย ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่โจทก์และทนายโจทก์กำลังเตรียมสืบพยานอยู่ในห้องพิจารณา

 

เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนดเป็นการสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดอันมีผลให้ศาลแรงงานภาค 2 ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่มีคำสั่งนั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิเคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41

 

ข้อโต้แย้งตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 จึงหมดไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

 

พิพากษากลับเป็นว่าให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด ให้ศาลแรงงานภาค 2 ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วมีคำพิพากษาตามรูปคดีใหม่

 

(ภาวนา สุคันธวณิช-วิชัย เอื้ออังคณากุล-ปกรณ์ สุวรรณพรหมา)

ศาลแรงงานภาค 2 - นายธีระนันท์ อ่วมเจิม



16/Jan/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา