ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่น ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว

คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิของโจทก์ในฐานะภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยพฤติการณ์จำเลยว่าการที่จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับสามีโจทก์ในท้องที่ย่านชุมชน มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันจนมีบุตรด้วยกัน โดยให้บุตรใช้นามสกุลของสามีโจทก์ เป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวแล้ว

 

อีกทั้งการเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีสัมพันธ์กับสามีในทางชู้สาว ต้องอาศัยพฤติการณ์การกระทำของหญิงอื่นมาเป็นหลักวินิจฉัย ทั้งนี้การพิจารณาคดีนี้ ศาลฎีกาได้ใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างกว้าง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะหากมีบุคคลอื่นมีความสัมพันธ์ระหว่าง สามีภริยาย่อมทำให้สถาบันครอบครัวกระทบกระเทือนและเกิดปัญหาสังคมตามมา

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548

 

ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใด หรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้

 

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุม โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2530 มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ต้องจ่ายเงิน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุม และไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิบตำรวจเอกประชุมต่อไป

 

แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2538 จำเลยกลับแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุมอีก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทน 200,000 บาท และอีกเดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม

 

 

จำเลยให้การว่า เมื่อปลายปี 2538 จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุม โดยถูกสิบตำรวจเอกประชุมหลอกลวงว่ายังไม่มีภริยา และต่อมาโจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมยกย่องจำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

 

 

จำเลยอุทธรณ์

 

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

 

 

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

 

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และสิบตำรวจเอกประชุม  เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 มีบุตรด้วยกัน 1 คนปลายปี 2538

จำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่ถนนพระยาตรังอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชาย...

 

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าอย่างเงียบ ๆ ไม่มีใครทราบและไม่เคยออกงานสังคมกับสิบตำรวจเอกประชุม จำเลยจึงมิได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวนั้น

 

เห็นว่าการที่จำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชนโดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุลของสิบตำรวจเอกประชุมด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับสิบตำรวจเอกประชุมด้วยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไป คือ

 

โจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และพันตำรวจตรีพาชื่น  มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยโจทก์เคยไปหาจำเลยขอร้องให้ยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุมแต่จำเลยไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ดังกล่าว โจทก์ยังเคยไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุมเกี่ยวกับเรื่องที่สิบตำรวจเอกประชุมมาได้จำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จนสิบตำรวจเอกประชุมถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนและรับว่าจะปฏิบัติตามคำตักเตือน

 

ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมาเบิกความเป็นพยาน ว่าหลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุมอีกคนหนึ่ง โดยตกลงกันว่าให้อยู่กันคนละบ้านและอยู่กันคนละวันสลับกัน

 

เห็นว่า ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหนสิบตำรวจเอกประชุมผู้เป็นสามีถึงกับต้องย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับสิบตำรวจเอกประชุมที่จังหวัดจันทบุรี

 

นอกจากนี้ยังไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสิบตำรวจเอกประชุมให้ว่ากล่าวตักเตือนสิบตำรวจเอกประชุมให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใด ที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุมอีกคนหนึ่ง

 

จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า เมื่อต้นปี 2539 สิบตำรวจเอกประชุมถูกย้ายไปอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนเพื่อไปอยู่กับโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้วิ่งเต้นให้ย้ายไป แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้สิบตำรวจเอกประชุมยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

 

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายคือ ค่าทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า สิบตำรวจเอกประชุมมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่ามีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากสิบตำรวจเอกประชุม 1 คน ทั้งมีรายได้เพียงจากการขายสลากกินแบ่งเท่านั้น ค่าทดแทนที่กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้จำนวน 100,000 บาท จึงสูงเกินไป ขอให้ลดลงเหลือเพียง 20,000 บาท นั้น

 

เห็นว่า ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับสิบตำรวจเอกประชุมสมรสกันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คนสถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"

 

พิพากษายืน

(ประสพสุข บุญเดช - อธิราช มณีภาค - สุเมธ ตังคจิวางกูร )



02/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา