ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

นายจ้างกำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีไม่ได้ เมื่อลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ลูกจ้าง

คำพิพากษาฎีกา ที่ 11182 /53

บริษัทซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ ประเทศไทย จำกัด โจทก์

นางสุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ จำเลย

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีแก่นางสาวสมพร แย้มนัดดา กับพวกรวม 437 คน ตั้งแต่วันที่  18  พฤษภาคม  2546  ถึงวันที่  19   พฤษภาคม  2548   รวมเป็นเงิน 1,389,236.75 บาท อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยมิได้มีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องและมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายให้ขยายระยะเวลาในการออกคำสั่ง

 

โจทก์กำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วันและแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าโดยปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ลูกจ้างไม่เคยค้าน

 

โจทก์มิได้ประกาศกำหนดวันรวม 12 วัน คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2546 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 23 ตุลาคม 2546 (วันปิยมหาราช) วันที่ 10 ธันวาคม 2546 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2547 (วันจักรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2547 (วันฉัตรมงคล) วันที่ 2 มิถุนายน 2547 (วันวิสาขบูชา) วันที่ 1 สิงหาคม 2547 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 5 ธันวาคม 2547 (วันเฉลิมพระชนมพรรษา) วันที่ 10 ธันวาคม 2547 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2548 (วันจักรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 (วันแรงงาน) วันที่ 5 พฤษภาคม 2548 (วันฉัตรมงคล) ให้เป็นวันหยุดตามประเพณี โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาอย่างวันหยุดตามประเพณี

 

ตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งของจำเลย ระบุให้โจทก์จ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันที่ 3 มกราคม 2548 ด้วย โดยไม่มีเหตุผลอธิบาย วันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 5 ธันวาคม 2547 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์ หากลูกจ้างคนใดมาทำงานปกติหรือทำงานล่วงเวลาแล้ว โจทก์จะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดครบถ้วนตามกฎหมาย

ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 5 ธันวาคม 2547 นั้น จึงซ้ำซ้อนกับที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548

 

 

จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยได้ขอขยายเวลาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล ต่อมาได้รับพิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน

 

การที่โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์โดยเลื่อนหรือเปลี่ยนไปหยุดวันอื่นแทนนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งลักษณะหรือสภาพของงานก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อโจทก์มิได้กำหนดวันรวม 12 วัน ตามฟ้องเป็นวันหยุดตามประเพณีในช่วงปี 2546 ถึง 2548 ถือว่าโจทก์ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีน้อยกว่า 13 วัน ไม่ชอบด้วยมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง

 

 

วันนัดพิจารณา โจทก์ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างได้รับเงินตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1

 

 

ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษาแก้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548  เฉพาะในส่วนของบัญชีท้ายคำสั่งให้เป็นไปตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่เพียงใด

 

ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าวันหยุดตามประเพณีตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างมีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามประเพณี หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นายจ้างไม่สามารถกำหนดวันหยุดอื่นมาชดเชยประกอบกับสภาพของงานที่ลูกจ้างทำงาน ไม่มีลักษณะตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2541)

 

การที่โจทก์กำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีจึงไม่ชอบ ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย

 

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีกับลูกจ้าง โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีโดยลูกจ้างยินยอมด้วย และได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ลูกจ้างไปแล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ และโจทก์ต้องรับผิดค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1

 

เห็นว่าแม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ แต่ก็ถือได้ว่าประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายและไม่เป็นการยกเว้นวันหยุดตามประเพณี ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

 

โจทก์จึงยังคงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่จะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย

 

ข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไม่อาจรับฟังได้แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามวันที่โจทก์ประกาศให้แก่ลูกจ้างไปแล้วโดยลูกจ้างยินยอม

 

เห็นว่า การที่โจทก์กำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณี ตามอัตราค่าจ้างในวันหยุดถือเป็นการตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานเกินไปกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติตามอำเภอใจ

 

เหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากกว่าที่ควรได้รับไม่ถือเป็นการตกลงอันใดขึ้นใหม่ โจทก์จะถือเสมือนว่าได้ชำระหนี้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีแล้วหาได้ไม่

 

หากโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งตามคำสั่งของจำเลย ซึ่งชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 28 มาตรา 62 ถึงมาตรา 64 และมาตรา 124 ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด

 

คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

 

พิพากษายืน

(ปดารณี ลัดพลี - ดิเรก อิงคนินันท์ - ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล)

ศาลแรงงานภาค 2 - นายเสถียร ศรีทองชัย

          



25/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา