ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

สรุปผลงานกระทรวงแรงงานปี 56 กับความล้มเหลวเชิงนโยบาย 13 เรื่อง

ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 2 คน คือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง พบว่ามีการประกาศใช้นโยบายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานที่เห็นได้ชัด เพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ การขยายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ) ให้แก่แรงงานนอกระบบ กับคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ.... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ แล้ว ต้องกล่าวว่ารัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะในสมัยร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ต่างมิได้แสดงผลงานใดๆ ให้ประจักษ์หรือดำเนินการต่อยอดการทำงานจากรัฐมนตรีคนที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อตกลงหลายเรื่องกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ กล่าวได้ว่านี่เป็น “ความล้มเหลวในการทำงานเชิงนโยบายที่เห็นได้ชัด”

ต่อไปนี้เป็นการประเมินการดำเนินงานของรัฐบาลต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา กับความล้มเหลวเชิงนโยบาย 13 เรื่อง

(1) การที่รัฐสภาไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ

21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ (ฉบับ 14,264 รายชื่อ) กับฉบับที่เสนอโดยนายนคร มาฉิม และคณะ และได้รับหลักการเฉพาะร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กับร่างพ.ร.บ.ประกัน สังคม ฉบับที่เสนอโดยนายเรวัติ อารีรอบและคณะ เพียงเท่านั้น แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกัน สังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2556 และจัดส่งรายงานการพิจารณาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ยังมีหลายประเด็นสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน

โดย เฉพาะองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาเป็นประธานกองทุน ถือว่าเป็นการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจบริหารจัดการในกองทุนประกันสังคม แบบเบ็ดเสร็จ, สำนักงานประกันสังคมยังไม่อิสระ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในการดำเนินงานและการ ตรวจสอบ ขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล รวมถึงไม่มีการกำหนดเรื่องคณะกรรมการการลงทุน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แบบมืออาชีพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผล ประโยชน์ของกองทุน และคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานและการดำเนิน งานต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น

(2) การที่รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98
แม้ว่ารัฐบาลโดยพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี จะได้ทำข้อตกลงกับคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรแรงงานต่างๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เรื่องการนำอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม 2556 และจะตั้งคณะทำงานฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ใช้แรงงานเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลา รวมทั้งกระบวนการที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 พฤษภาคม 2557 นั้น

แต่ภายหลังจากการเข้า ติดตามและพบผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะนายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง กลับแจ้งว่าทางคณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอแนะเรื่องการให้แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป นี้จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการไม่จริงใจและบิดพลิ้วของรัฐบาลชุดนี้อย่าง ยิ่ง

(3) การที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ยอมเซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน หรือฉบับ 12,567 รายชื่อ กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับ 10,300 รายชื่อ ในฐานะร่างกฎหมายการเงิน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและคณะ นำโดยนายชาลี ลอยสูง และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ได้นำรายชื่อผู้ใช้แรงงานจำนวน 12,567 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ต่อประธานรัฐสภา และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดยนายมนัส โกศล และคณะ ได้นำรายชื่อผู้ใช้แรงงาน จำนวน 10,300 รายชื่อ เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับผู้ใช้แรงงาน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามเนื่องจากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยเรื่องการเงินที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนาม รับรองเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การบรรจุวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป แต่ผ่านมากว่า 1 ปี นายกรัฐมนตรีก็กลับไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าวนี้แม้แต่น้อย

(4) การประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มาพร้อมกับการเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ

ภายหลังจากการประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนของการประกาศใช้ พบว่า มีนายจ้างในหลายพื้นที่อุตสาหกรรมได้ใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโรงงานวีณาการ์เม้นต์ จ.สระบุรี โรงงานมาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์ จ.นครปฐม และโรงงานแอร์โร่เวิร์ค เอเชีย จ.ชลบุรี อีกทั้งในหลายสถานประกอบการได้ลดเวลาทำงานล่วงเวลา (โอที) ของลูกจ้างลง เพื่อไม่ให้นายจ้างมีภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อลูกจ้าง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การปรับวันการทำงาน หรือ ปรับเวลาการเข้าออกงานใหม่ เป็นต้น

สถานการณ์ที่รุนแรงและเห็นได้ชัดในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ได้แก่

- กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ถูกเลิกจ้าง 129 คน เนื่องจากสหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเสนอกับสถานประกอบการเพื่อขอให้พิจารณา ปรับค่าจ้างตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้สอดคล้องกับฐานเงินเดือนและอายุการทำงานของลูกจ้าง และการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส

- สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกสถานประกอบการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย ) จำกัด โดยสถานประกอบการได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จากเดิมพนักงานทำงาน 5 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นให้ทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว โดยอัตราค่าจ้างยังเท่าเดิม ทั้งนี้ในระหว่างที่การเจรจายังไม่ยุติ สถานประกอบการก็ได้มีการนำสภาพการจ้างงานแบบใหม่มาใช้กับพนักงานที่กำลังจะ บรรจุเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานที่กำลังจะเลื่อนตำแหน่งงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อกดดันลูกจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

- สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในฐานะลูกจ้างบริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คน ถูกเลิกจ้าง ภายหลังจากที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงาน เพื่อเจรจาให้บริษัทมีการจัดสวัสดิการ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดประจำปี 13 วัน ให้แก่พนักงาน รวมถึงขอให้มีการจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานด้วย แต่ทางบริษัทไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่กลับแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างพนักงานที่มารวมตัว ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้วลูกจ้างต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทั้งค่าแรงและสวัสดิการต่ำ นี่ไม่นับความไม่ปลอดภัยในการจ้างงานที่พนักงานต้องขับรถส่งสินค้าทั่ว ประเทศยาวนานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ไม่มีวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่บริษัทก็ไม่ได้ตระหนักถึงสภาพการทำงานดังกล่าว

- สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ถูกทางนายจ้างได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับสวัสดิการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้าง โดยบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง รวม 4 ข้อ คือ (1) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เวลาทำงานปกติ งานล่วงเวลาและการคิดค่าจ้างรายชั่วโมง วันลา ยกเลิกโครงสร้างตำแหน่งงาน โครงสร้างค่าจ้าง และตารางการขึ้นค่าจ้างจากการประเมินผลงาน (2) การเลื่อนตำแหน่งของพนักงานรายวันออกจากข้อตกลงสภาพการจ้าง (3) การยกเลิกเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัยธรรมชาติ และ (4) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีกำหนดเวลา 3 ปี  ทั้งนี้ทางลูกจ้างเห็นว่าเป็นสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง โดยเฉพาะการทำงานแบบ 4 วัน หยุด 2 วัน โดยบริษัทใช้ข้ออ้างเรื่อง จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ELECTRONIC INDUSTRY CODE OF CONDUCT (EICC) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 ที่เวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

- ลูกจ้างบริษัทเวีย โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งได้มีการเจรจากับนายจ้างเพื่อขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แต่นายจ้างไม่ยอมเจรจา อีกทั้งยังได้ประกาศเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 105 คน ที่ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกด้วย

(5) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ต่อการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานที่ไม่มั่นคงแบบเหมาค่าแรง แต่ไม่คุ้มครองแรงงาน

ผลจากการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาเป็นพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ซึ่งมีการตัดนิยามความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ตามมาตรา 5 (3) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ออกไป และได้กำหนดหลักการ ซึ่งมีเนื้อหาลักษณะเช่นเดิมนั้นมาแยกบัญญัติไว้ในส่วนของมาตรา 11/1 วรรคหนึ่งแทน

การบัญญัติเช่นนี้ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับความเป็นนายจ้างโดยตรงเพราะทำให้มี นายจ้างเกิดขึ้นเพียงคนเดียว คือ ผู้ประกอบกิจการ ส่วนผู้รับเหมาค่าแรงไม่ต้องมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงดัง เช่นในอดีตอีกต่อไป  การกำหนดสาระสำคัญเช่นนี้เองที่ทำให้เป็นการเพิ่มภาระ ด้านการบริหารจัดการและต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ และยิ่งทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องแสวงหาหนทางหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างไม่สิ้น สุด และก่อให้เกิดเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบกิจการสามารถทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงได้อย่างกว้างขวางและแพร่ หลาย โดยไม่จำกัดลักษณะของงานหรือความจำเป็นแท้จริงในการดำเนินธุรกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่ากิจการใดสามารถมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำแทนได้โดยชอบด้วย กฎหมาย กิจการนั้นย่อมสามารถที่จะทำการจ้างเหมาค่าแรงได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ในสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ รวมถึงภาคสิ่งทอ เต็มไปด้วยลูกจ้างรับเหมาค่าแรง หลายสถานประกอบการมีจำนวนมากกว่าลูกจ้างประจำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลูกจ้างเหล่านี้ไม่อาจเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานภายในสถาน ประกอบการได้ ย่อมทำให้สหภาพแรงงานมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองน้อยลงตามไปด้วย จนในที่สุดนายจ้างก็จะไม่ให้ความสำคัญอีกต่อไป

นอกจากนี้การที่ผู้ประกอบกิจการสามารถทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงได้อย่างเสรี ยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์อีกด้วย เพราะเมื่อสหภาพแรงงานนัดหยุดงานเพื่อกดดันให้นายจ้างยอมตกลงตามข้อเรียกร้อง แต่ในระหว่างนั้นนายจ้างสามารถไปทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรง เพื่อให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมาทำงานทดแทนลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงที่ กำลังหยุดงานประท้วง นายจ้างจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของพนักงาน เพราะมีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน ส่งผลให้กระบวนการเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่อาจบรรลุผลได้ตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้


(6) คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่มีกลไกปฏิบัติตาม


แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2554 เป็นต้นมา ที่เห็นชอบในมาตรการผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน รวมถึงการขับเคลื่อนของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน) และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีมติไปถึงรัฐบาลเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่พบว่ากลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างต่างๆ ยังคงมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ประกอบด้วยแร่ใยหิน ซึ่งทำให้พิษภัยจากแร่ใยหินส่งผลกระทบต่อแรงงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างมาก ในขณะเดียวกันการที่รัฐยังไม่สามารถประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้อย่างเด็ดขาด อาจเป็นเพราะต้องการเอาอกเอาใจภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าชีวิตและความเป็นความตายของแรงงานและผู้ เกี่ยวข้องในกิจการต่างๆ ที่ใช้แร่ใยหิน มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไว้ อีกทั้งมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหิน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน เป็นต้น

(7) การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
แม้ว่าพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 เรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานใน ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่ากฎหมายฉบับนี้ยังมิสามารถบังคับใช้ให้เกิดผล ในทางปฏิบัติได้จริง ยังคงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในสถานประกอบการต่างๆ มิใช้น้อย แต่มิได้มีการแจ้งตัวเลขดังกล่าวให้กระทรวงแรงงานทราบ เนื่องจากมีผลต่อการเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน อีกทั้งโครงการ Zero Accident ที่มุ่งให้อุบัติเหตุในสถานประกอบการเป็นศูนย์ ยิ่งทำให้สถิติอุบัติเหตุถูกปกปิด มีนายจ้างบางสถานประกอบการที่จูงใจลูกจ้างว่า “หากแผนกใดไม่เกิดอุบัติเหตุจะได้รับรางวัลพิเศษ ทำให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายถ้าไม่ร้ายแรงจริงๆ ก็ไม่ยอมแจ้งนายจ้าง” เป็นต้น 

อีกทั้งเมื่อมาพิจารณาที่ตัวกฎหมายฉบับนี้เองก็พบข้อจำกัดที่ไม่เอื้อในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น

- สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่มีเงินในการทำงาน กล่าวคือ กองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯนี้เป็นกองทุนหนึ่งในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯโดยตรง อีกทั้งในกฎหมายยังกำหนดให้ใช้กองทุนนี้ในอีก 5 กิจการ จึงมีคำถามว่า แล้วจะเหลืองบประมาณจัดสรรให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยใช้เท่าใด นี่ไม่นับว่ากองทุนนี้ใช้จ่ายภายใต้ความเห็นชอบของอธิบดีกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานที่เป็นประธานกองทุน แต่ไม่มีคนของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯนั่งเป็นกรรมการด้วยเลย

- อำนาจหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของสำนักความปลอดภัยแรงงาน และของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความซ้ำซ้อนกันมาก ไม่ว่าในเรื่องการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย การพัฒนาและจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัย และการศึกษาวิจัย นี่ยังไม่นับรวมไปถึงสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมโรค) ที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายกันนี้ด้วย

- การให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของแรงงานในงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย น้อยเกินไป มีแต่การตั้งรับมากกว่างานเชิงรุก ทั้งๆ ที่แรงงานเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เป็นคนที่อยู่หน้างาน สัมผัสกับอันตราย ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีบทบาทที่เหมาะสมในเรื่องนี้ ก็ย่อมลดหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างแน่นอน

สถานการณ์ดังที่กล่าวมา กระทรวงแรงงานยังไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งสิ้นในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แม้ว่าผู้ใช้แรงงานที่นำโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวด ล้อมแห่งประเทศไทยจะเรียกร้องมาโดยตลอดก็ตาม

(8) การไม่ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554
พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และตามกระบวนการกระทรวงการคลังจะต้องเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา แต่นับตั้งแต่ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนมาถึงเมื่อสิงหาคม 2555 จึงได้เสนอให้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด

ล่าสุด เมื่อ16 สิงหาคม 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... เนื่องจากเห็นว่าซ้ำซ้อนกับพระราชกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2556 ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน หรือประกันสังคม มาตรา 40 ที่เพิ่มประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพขึ้นมาอีกทางเลือกหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทุนการออม

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 และกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติมีเจตนารมณ์กฎหมายแตกต่างกัน เพราะกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมเป็นเรื่องการจัดสวัสดิการเสริมการสังคมเพื่อ คนทำงานเป็นสำคัญ ต่อยอดเชื่อมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่มีมาก่อนแล้ว ขณะที่กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติมีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันชราภาพโดยตรง เพื่อการดำรงชีพในยามชรา

(9) การไม่ออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553

15 พฤษภาคม 2554 เป็นวันที่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานต้องออกกฎหมายลำดับรองเพื่อบังคับใช้รวมจำนวน 14 ฉบับ จากข้อมูลเมื่อธันวาคม 2556 พบว่า ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มีการออกกฎหมายรองซึ่งได้มีการ ประกาศใช้แล้วจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1. แบบคำร้องและแบบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 2. แบบบัตรประจำตัวพนักงานตรวจแรงงาน 3. แต่งตั้งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 4. มอบหมายอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 5. การตรวจแรงงาน 6. การรับคำร้องและการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจ

ทั้ง นี้มีข้อสังเกตว่ากฎหมายลำดับรองทั้ง 6 ฉบับ “ไม่เป็นประโยชน์” หรือ “มีผล” ต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพราะไปออกกฎหมายในเชิงเทคนิคและการจัดการมากกว่าการคุ้มครอง ที่ยังเหลืออีก 8 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความ ปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ 2. ร่างกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดงานที่ห้ามผู้จ้างงานหรือผู้รับงานไปทำที่บ้าน 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพของแรงงาน 4. ร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนผู้จ้างงาน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน 5. ร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับ งานไปทำที่บ้าน. 6. ร่างกฎกระทรวงเรื่องบัตรประจำตัวกรรมการและอนุกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำ ที่บ้าน 7. ร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกัน ความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน 8. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยงานอื่นๆ ตามนิยามมาตรา 3 “งานที่รับไปทำที่บ้าน” (ดำเนินการต่อเมื่อมีการขยายความคุ้มครองไปยังงานอื่นๆ )


(10) การเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ

ปกติแล้วแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะต้องเข้าสู่ระบบประกัน สังคม โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมในปีแรก คือปี 2553 แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 สำนักงานประกันสังคมระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 250,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสถิติตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนของแรงงานข้าม ชาติทั้งหมด ปัจจุบันยังคงมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน อีกทั้งนายจ้างบางรายไม่ยอมแจ้งนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่หักเก็บเงินค่าจ้างลูกจ้าง แล้วอ้างว่าจะนำเงินส่งประกันสังคมให้ หรือกรณีการเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านการใช้สิทธิ และช่องทางการไปใช้สิทธิประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิกประกันสังคมส่วนใหญ่ จะไปหาซื้อยาตามร้านขายยา หรือไปรักษาที่คลินิกใกล้สถานที่พักของตนเองแทน

(11) อุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในรอบปี 2556 มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางรวม 12 ครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตรวม 37 คน และบาดเจ็บรวม 172 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้แก่ การฝ่าด่านจนรถคว่ำ การชนจนกลิ้งตกคลองหรือแม่น้ำข้างทาง สภาพยานพาหนะไม่เหมาะสมต่อการเดินทาง อีกทั้งยังพบว่ารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ใส่ใจหรือเอา จริงเอาจังกับการดูแลและเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานกลุ่มนี้เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน

(12) มีกฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานคนทำงานบ้าน ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2555 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ชีวิตคนทำงานบ้านก็ยังไร้หลักประกัน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้ “ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” สิทธิบางอย่างที่ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองเพิ่มตามกฎกระทรวงฉบับ นี้ (2555) รวม 6 ข้อ คือ มีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน, กำหนดวันหยุดตาม ประเพณีให้ลูกจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวัน, มีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง แต่จ่ายค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน, จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ (2) วันหยุดตามประเพณี (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี, จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง

อย่างไรก็ตามปัญหาของกฎกระทรวง ฉบับใหม่ (2555) ก็มิให้ใช้บังคับในหลายเรื่อง เช่น กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมงและเมื่อรวม เวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง, การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด รวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในข้อยกเว้นของประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับล่าสุด อีกทั้งการเข้าสู่ประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ก็เข้าได้เฉพาะมาตรา 40 ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ แต่มาตรา 33 ยังไม่สามารถเข้าได้

(13) พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ยังมีช่องว่างที่ทำให้นายหน้าสามารถหลอกลวงคนงานได้ง่ายขึ้น โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเอาผิดได้

ในมาตรา 38 ของพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ได้มีการเปิดช่องให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการสำหรับคนที่จะไปทำงานต่างประเทศได้มากกว่าความเป็นจริง ยิ่งเมื่อคนหางานมีความต้องการไปทำงานมากเท่าใดก็จะเป็นช่องทางให้มีการเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และกระทรวงแรงงานไม่สามารถจัดการได้ ที่เห็นได้ชัดในปี 2556 คือ

มีกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และชัยภูมิกว่า 120 คน ถูกบริษัทเอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ เรียกเก็บเงินคนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อแลกกับการได้ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนเมื่อกรกฎาคม 2556 แต่เมื่อไปถึงประเทศสวีเดน บริษัทจัดหางานได้จัดให้กลุ่มแรงงานเก็บลูกเบอร์รีนานกว่า 1 เดือน แต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา แม้ว่าบริษัทเจ้าของไร่ลูกเบอร์รีในประเทศสวีเดนได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ได้จ่ายค่าจ้างให้กลุ่มแรงงานผ่านบริษัทจัดหางานจากประเทศไทยแล้วก็ตาม จนในที่สุดแรงงานกลุ่มนี้จึงเข้าขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยประจำประเทศสวีเดน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อกันยายน 2556 ในช่วงเกิดเรื่องมีแรงงานคนหนึ่ง คือ นายบัวลา เหล่าพรม อายุ 39 ปี ทนความเครียดไม่ไหวและได้ผูกคอจนเสียชีวิตอยู่ในประเทศสวีเดน

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 



03/Jan/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา