ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เสียงสะท้อนในมุมผู้ใช้แรงงาน - แนวหน้า 15 ธ.ค. 60

"นอกจากศาลแรงงานแล้ว “ศาลปกครอง” เป็นอีกศาลหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาให้ใช้ระบบไต่สวน โดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 55 (วรรคสาม) ว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลปกครองอาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้ ศาลปกครองจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควร

 

โดยท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้เหตุผลที่กำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนกับคดีปกครอง เนื่องจากคดีปกครองเป็นคดีข้อพิพาทว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐที่มีผลกระทบกับภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชน มักเสียเปรียบภาครัฐเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐได้ นอกจากนี้ยังต้องใช้ตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะในการพิจารณาคดีอีกด้วย"

 

“ผู้ใช้แรงงาน” คือผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดก็ตาม สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงาน “แรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2559” จัดทำโดย สำนักงานสถิติ แห่งชาติ พบว่า ในปี 2559 มีคนไทยที่มีงานทำทั้งสิ้นประมาณ 38.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็น “แรงงานในระบบ” อยู่ตามองค์กรต่างๆ 16.9 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ลูกจ้างรัฐบาล (เช่น ข้าราชการ พนักงานราชการหรือลูกจ้างประจำ) 3.3 ล้านคน และ ลูกจ้างเอกชน พนักงานตามบริษัทห้างร้าน 12.6 ล้านคน

 

สำหรับแรงงานในระบบ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “มนุษย์เงินเดือน” เชื่อว่าผู้ที่เลือกประกอบอาชีพในเส้นทางนี้มักคิดถึง “ความมั่นคง” ในชีวิตของตนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เห็นได้จากงานในสังกัดราชการที่แม้รายได้อาจจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับงานประเภทเดียวกันในภาคเอกชน แต่มีความมั่นคงสูง อาทิ มีสวัสดิการหลากหลายครอบคลุมทั้งตนเอง บิดามารดา คู่สมรสและบุตร รวมถึงหากไม่ทำผิดร้ายแรงจริงๆ โอกาสถูกให้ออกจากงานเป็นไปได้ยากมาก ทำให้การสอบบรรจุเข้ารับราชการ ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจจนถึงปัจจุบัน

 

ตรงข้ามกับงานภาคเอกชน แม้เข้าทำงานอาจจะไม่ยากลำบากมากเท่าการเข้ารับราชการ อีกทั้งมีตำแหน่งงานหลากหลายกว่า แต่เรื่องของความมั่นคงในชีวิตลูกจ้างเอกชน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี “ความเหลื่อมล้ำ” ในหลายๆ เรื่อง แรงงานภาคเอกชนมีความเสี่ยงทั้งสภาพแวดล้อมการทำงาน และการถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุต่างๆ นานา จึงมีความพยายามออกกฎหมายมาเพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น กฎหมายกองทุนประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมถึงมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ขึ้นมาพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะ

 

ซึ่งข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายดังกล่าว คือการนำ “ระบบไต่สวน” มาใช้ ดังที่ระบุใน มาตรา 45 ไว้ว่า “เพื่อประโยชนแห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ไดความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบไดเองตามที่เห็นสมควร” ต่างจากศาลยุติธรรมอื่นๆ ที่ใช้ “ระบบกล่าวหา” คู่ความทั้งโจทก์และจำเลยต้องหาพยานหาหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงของตนเอง ศาลไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้

 

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังมีประเด็นให้ต้องแก้ไข อาทิ ในงานแถลงข่าว “สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฏิรูป : แถลงผลงานฝ่ายกฎหมาย คสรท. กับการช่วยเหลือคนงานให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” ณ รร.บางกอกพาเลส ย่านมักกะสัน-ราชปรารภ กรุงเทพฯ ชาลี ลอยสูง ประธานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงปัญหาที่พบเมื่อ คสรท. เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางคดีความกับผู้ใช้แรงงาน

 

อาทิ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้วยังยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่กรณี หลายครั้งฝ่ายนายจ้างมักจะใช้จุดนี้ต่อรองกับลูกจ้าง ประเภท “อยากได้ให้ไปฟ้องเอาเอง” ขณะที่ผู้พิพากษาอาชีพประจำศาลแรงงานมาจากกระบวนการศึกษาในระบบกฎหมายทั่วๆ ไป ซึ่งอาจขาดความเข้าใจในคดีแรงงาน เช่น “มองว่านายจ้างกับลูกจ้างสถานะเท่าเทียมกันเหมือนคู่ความในคดีแพ่ง” ทั้งที่นายจ้างและลูกจ้างมีศักยภาพในการเข้าถึงพยานหลักฐานไม่เท่ากัน

 

ปธ.ฝ่ายกฎหมาย คสรท. กล่าวต่อไปว่า ผู้พิพากษาสมทบ พบว่าบางกรณีผู้ที่เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของลูกจ้างได้เต็มที่ เนื่องจากขาดความรู้เข้าใจเข้าในกฎหมายแรงงานอย่างลึกซึ้ง ขณะที่ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย หลายคนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ทำให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับไม่สอดคล้องกับความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับจากการถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ จำนวนผู้พิพากษาในศาลแรงงานที่มีน้อย ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า

 

“เจตนาของการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มีที่มาจากการพิจารณาคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และอื่นๆ ดังนั้นทำอย่างไรจึงทำให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นผู้พิพากษาต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจด้านกฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นสำคัญ” นายชาลี กล่าว

 

สอดคล้องกับที่ พรนารายณ์ ทุยยะค่าย ทนายความประจำ คสรท. กล่าวเสริมว่า ศาลแรงงานถูกออกแบบให้ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งผู้พิพากษามีอำนาจเรียกหาพยานหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีได้ เช่น “กรณีลูกจ้างบอกว่าได้โทรศัพท์ลางานแล้ว แต่นายจ้างบอกไม่ทราบเรื่อง ผู้พิพากษาสามารถขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ส่งบันทึกการใช้โทรศัพท์มาประกอบการพิจารณาคดีได้ทันที” โดยไม่ต้องให้ลูกจ้างเขียนคำร้องซึ่งเป็นภาระกับลูกจ้างแต่อย่างใด โดยเฉพาะหากลูกจ้างไม่มีทนายความคอยช่วย ทั้งนี้เอกสารหลักฐานต่างๆ มักอยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

 

พรนารายณ์ ระบุว่า คดีแรงงานมีความแตกต่างกับคดีทั่วไป เพราะเป็นการต่อสู้กันในเชิงอำนาจตลอดเวลาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน หากศาลในฐานะผู้ชี้ขาดไม่เข้าใจประเด็นนี้ “โอกาสที่สหภาพแรงงานในประเทศไทยจะเข้มแข็งก็เป็นไปได้ยาก” คนที่มีภาระครอบครัวจะไม่กล้ามาทำงานกับสหภาพแรงงาน “การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยให้ดีขึ้นย่อมเป็นเรื่องยาก” เพราะอำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงานก็จะน้อยลงไปด้วย

 

“ปัจจุบันผู้พิพากษาศาลแรงงานเป็นสายกว้าง คือใครก็ตามที่เห็นสมควร แต่ถ้าเป็นสายตรง เช่น เคยอยู่ศาลแรงงานก็ขอให้อยู่ยาวไปถึงศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ท่านก็จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อการันตีได้ว่า เมื่อแรงงานไปฟ้องหรือใช้สิทธิ์ทางศาลก็จะมองภาพออก” พรนารายณ์ ฝากข้อเสนอแนะ

 

อนึ่ง..ย้อนไปเมื่อ 30 ม.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ในครั้งนั้น ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คปก. กล่าวถึงปัญหาการพิจารณาคดีแรงงานไว้ในทำนองเดียวกัน อาทิ ผู้พิพากษาที่เข้าไปอยู่ในศาลแรงงานจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในคดีแพ่ง จึงนำวิธีพิจารณาคดีแพ่งไปใช้ในศาลแรงงาน ทั้งที่คดีแรงงานมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ การให้ความรู้ด้านกฎหมายและคดีแรงงานในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย

 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 258 กล่าวถึงการดำเนินการปฏิรูประเทศในหลายด้าน รวมถึง “ด้านกระบวนการยุติธรรม” ที่มีเป้าหมายประการหนึ่งคือ เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ได้มีการออก ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไปเมื่อ 15 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา

 

ก็ขอฝากข้อสังเกตจากผู้ใช้แรงงานเข้าไปประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลงไปได้อีกประการหนึ่ง!!!



17/Dec/2017

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา