ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

เมื่อ “ติดคุก” ต้องทำอย่างไร

กรมราชทัณฑ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้

สิ่งที่กำหนดว่าจะได้อยู่คุกไหน  ก็คือ

1.ท้องที่ที่ทำความผิด ถูกส่งฟ้องที่ศาลไหนก็ถูกจำคุกที่เรือนจำประจำศาลนั้น กรมราชทัณฑ์เตรียมเรือนจำไว้รองรับกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ

 

2.   สถานะของผู้ต้องขัง   ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีจะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษต่างๆ เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแตกต่างไปจากผู้ต้องขังที่คดีเสร็จสิ้นแล้ว (แต่ในหลายๆเรือนจำ ผู้ต้องขังเหล่านี้ก็ยังคงถูกขังปะปนกับผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินแล้ว เนื่องจากเรือนจำพิเศษมีไม่เพียงพอ)

 

 

ส่วนผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย ก็อาจได้รับการพิจารณาส่งตัวไปยังทัณฑสถานเปิดต่างๆ เช่น ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง  ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง   ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น  เป็นต้น

 

3.  ความรุนแรงของคดี

 

-   ถ้าจำคุกนาน จะถูกส่งไปยังเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งได้แก่  เรือนจำกลางต่างๆ  เช่น  เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางประจำเขต       

 

-   ถ้าโทษไม่สูง ก็จะถูกขังที่เรือนจำจังหวัด หรือเรือนจำอำเภอ

 

-   ถ้าถูกกักขังแทนค่าปรับ จะถูกขังที่สถานกักขัง เช่น สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดตราด

 

 

 

4.   ประเภทของความผิด

 

ผู้ทำผิดคดีเสพยาเสพย์ติดจะถูกคุมขังในเรือนจำที่ทำหน้าที่บำบัดการติดยา ซึ่งได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษต่างๆ เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง (เนื่องจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษมีไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดบางส่วนก็ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำทั่วไป มีวิธีการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่เรียกว่า "ชุมชนบำบัด"

 

 

5.   ลักษณะของตัวผู้ต้องขังเอง  เช่น

- อายุไม่เกิน 25 ปี จะอยู่ในทัณฑสถานวัยหนุ่ม ผู้ต้องขังหญิงถูกส่งเข้าทัณฑสถานหญิง

- ผู้ต้องขังป่วย ถูกส่งเข้า ทัณฑสถานโรงพยาบาล

 

 

เช็คอินเข้าคุกวันแรก    วันแรกที่ผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ  เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ  ดังนี้

 
1. ตรวจสอบประวัติ
 
ประวัติของผู้ต้องขังจะถูกส่งมาที่เรือนจำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียดพร้อมๆกับการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังเป็นคนเดียวกันกับที่ระบุไว้ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
2. พิมพ์ลายนิ้วมือ

 

เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะนอกจากการสัมภาษณ์แล้ว การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องขังเพื่อ ตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  จะช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเรือนจำรับผู้ต้องขังไม่ผิดตัว

 

3. ถ่ายรูป  บางเรือนจำอาจถ่ายรูปผู้ต้องขังในวันแรกที่เข้ามา แต่บางเรือนจำอาจรอทำในวันถัดไป

 
4. ทำบัญชีฝากของมีค่า
เรือนจำจะเก็บของมีค่าทั้งหมดของผู้ต้องขังไว้และออกใบรับฝากให้ผู้ต้องขังเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรับคืนภายหลัง
 
 
5. ตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวที่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าเรือนจำ
 
เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งต้องห้ามปะปนอยู่ โดยเฉพาะยาเสพย์ติด สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้าเรือนจำได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า สบู่ แปรงและยาสีฟัน เป็นต้น
 
 
6. พิจารณาจัดหาที่ๆเหมาะสมที่จะให้ผู้ต้องขังอยู่

 

โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ในแดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ มีผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพก็จะส่งไปพักที่สถานพยาบาลของเรือนจำ

 

 

สิทธิของผู้ต้องขัง

1. สิทธิที่จะได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการและเพียงพอต่อความต้องการ

กรมราชทัณฑ์รับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ ทุกวัน ฟรี   ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคุกจนถึงวันสุดท้าย

 

อาหารมื้อแรกในเรือนจำ
       
ปัญหาของผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำในวันแรกๆก็คือ ความไม่คุ้นเคยกับรสชาติของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสารที่ใช้นั้นเป็นข้าวสารกล้อง 5% ที่เรียกกันว่าข้าวแดง (ยกเว้นในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเรือนจำบางแห่งที่จะหุงข้าวขาวให้กับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ป่วย)
       
ในกลุ่มผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ปัญหาเรื่องอาหารก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นเรือนจำทุกแห่งจึงอนุญาตให้ผู้ต้องขังซื้ออาหารจากร้านค้าของเรือนจำมารับประทานได้ โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีสิทธิ์ใช้เงินที่ฝากไว้ในบัญชีของตนในการซื้ออาหาร และของใช้ประจำวันได้วันละไม่เกิน 200 บาท

 

ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ โรงครัวของเรือนจำจะต้องเตรียมอาหารให้กับผู้ต้องขังทั่วไป ผู้ต้องขังที่เป็นอิสลาม และผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติ

 

2. สิทธิที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะมีเสื้อผ้าของตนเองจากญาติที่นำมาให้ ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้า  ผ้าห่ม  และของใช้ประจำตัว ทางเรือนจำจะรับผิดชอบจัดหาให้

 

3. สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ

 เรือนจำทุกแห่งได้พยายามจัดเรือนนอนให้ผู้ต้องขังได้พักอาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอยู่แล้ว แต่คนติดคุกมีมากเกินไป ทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด  

 

4. สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าทีพยาบาลคอยให้การบำบัดรักษาโรคให้กับผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะมีการพิจารณาส่งตัวออกรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก หรือ ส่งตัวมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่กรุงเทพ

 

5. สิทธิที่จะได้รับการติดต่อกับญาติและทนายความ

ทนายความมีสิทธิ์ขอเข้าพบผู้ต้องขังได้ตามความจำเป็น  ส่วนญาติก็สามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามวันเวลาที่เรือนจำกำหนด ปัจจุบันนี้เรือนจำหลายแห่งได้เพิ่มจำนวนวันที่ญาติสามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้มากขึ้น บางเรือนจำอนุญาตให้เยี่ยมได้ทุกวันทำการ  ผู้ต้องขังที่พักรักษาตัวอยู่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ถึงตัวภายในโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถเดินออกไปเยี่ยมญาติได้ตามปกติ

 

6.สิทธิที่จะประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาต่างๆสามารถประกอบพิธีการทางศาสนาได้ โดยทางเรือนจำจะมีอนุศาสนาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำและอำนวยความสะดวก

 

7. สิทธิที่จะรับและส่งจดหมายติดต่อกับบุคคลภายนอก

นอกจากสิทธิที่จะรับ-ส่งจดหมายแล้ว ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ได้มีนโยบายให้ผู้ต้องขังสามารถรับ-ส่ง E-mail กับญาติ และแม้กระทั่งสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับญาติได้ตามระเบียบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้

 

8. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ

ผู้ต้องขังมีสิทธิที่จะอ่านหนังสือและวารสารในห้องสมุดของเรือนจำ และรับชมรายการข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงต่างๆจากโทรทัศน์ที่เรือนจำจัดให้

 

พื้นที่การนอนของผู้ต้องขัง

1.พื้นที่นอนของผู้ต้องขัง 1 คนตามมาตรฐานสากล  คือ 7.5 ตารางเมตร ต่อคน

 

2. ส่วนในประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์  คือ  2.25  ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน ซึ่งเป็นขนาดที่พอจะยอมรับได้ ถ้าการระบายอากาศในห้องนอนอยู่ในเกณฑ์ดี

 

แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 3 เท่า คือ เฉลี่ยแล้ว ผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร ซึ่งหมายความว่าถ้าผู้ต้องขังมีส่วนสูง 170 เซนติเมตรก็จะมีเนื้อที่นอนกว้างเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น  เพราะฉะนั้นการจะนอนให้หลับสบายจึงเป็นไปไม่ได้

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติด

 

ทางลัดออกจากคุกให้เร็วกว่าปกติ
       
1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล - น่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับผู้ต้องขังที่คดียังอยู่ใระหว่างการ พิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มากและเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง

 

2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น - ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วจะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม "ชั้น" ของผู้ต้องขัง ดังนี้
       
       -ชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน
       
       - ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน
       
       - ชั้นดี ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน

 

เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำและความตั้งใจ ในการฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น
       


3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ - ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
       


4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ - ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและมีโทษจำคุกเหลือไม่มากอาจได้รับการพิจารณา ให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะอีกด้วย


       
5. การขอพักการลงโทษ - เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
       - ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ
       - ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
       - ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้
       - ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
       - ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ
       - ชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ

 

การติดคุกฟรี

1. ถูกจับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ แล้วต่อมา มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้ทำผิด จนมีการถอนฟ้อง 2. ศาลพิพากษา ว่าจำเลยไม่ได้ทำผิด ให้ปล่อยตัวไป

 

แนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิ์เรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย

 

1. จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก

 

2. จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

 

3. ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่กำหนดไว้ในกฎ   กระทรวงฯ       

 

4. ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย

 

5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

 

 

 

หากอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้ที่ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา  ชั้น 15 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ  อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ 0-2502-8083,  0-2502-6539 ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี  มิฉะนั้นหมดสิทธิ



30/Jun/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา