ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

คำแนะนำในการเลือกทนายความ :: สภาทนายความ

ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการของทนายความ จะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกทนายความอย่างไร?

 

คำถามใดที่ควรจะถามและทำความเข้าใจกับทนายความก่อนอื่นใด? และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

 

ถ้าหากเลือกทนายความผิด...แทนที่จะได้คนมาช่วยแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาความเดือดร้อนของเราแล้ว อาจจะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเป็นทวีคูณก็ได้ ถ้าผู้ที่ต้องการทนายความสามารถเตรียมตัวในการพบทนายความสามารถเตรียมตัวใน การพบทนายความได้ดีแล้วก็จะทำให้ทนายความสามารถทำงานให้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นการประหยัดเวลาของผู้ได้รับความเดือดร้อนและของทนายความได้อย่างดี และยังเป็นการลดความขัดแย้งของลูกความกับทนายความ ซึ่งทำให้คดีมรรยาททนายความลดน้อยลงไปด้วย

 

คำแนะนำดังต่อไปนี้เป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ควรปฏิบัติในการพบทนายความครั้งแรก

 

ขอดูใบอนุญาตทนายความ

ผู้ประกอบอาชีพทนายความต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาทนายความเท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตว่าความ ต้องได้รับการทดสอบว่าเป็นผู้ที่ต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย และได้รับการฝึกฝนการใช้กฎหมายมาเป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับการอบรมเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพแล้ว ซึ่งสภาทนายความมีอำนาจในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นทนายความ จึงเสมือนหนึ่งเป็นการรับรองว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตว่าความต้องเป็นผู้มีมาตรฐานการประกอบวิชาชีพขั้นต่ำแล้ว

 

ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ หากมาทำการว่าความในศาล หรือแต่งฟ้องคำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาในศาล เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา33 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

เชื่อหรือไม่? ในปัจจุบันนี้ มีสำนักงานทนายความบางแห่งที่ประกอบกิจการมานานนับสิบปี โดยเจ้าของสำนักงานหรือผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ แต่จะทำการเป็นผู้ให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย เมื่อจะว่าความก็จะใช้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตว่าความดำเนินการในชั้นศาล บุคคลทั่วไปจะเห็นแต่ท่าทางภูมิฐาน พูดจะมีหลักมีเกณฑ์น่าเชื่อถือ โดยปกปิดเรื่องที่ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความหรือบางครั้งแอบอ้างว่าเป็นทนายความด้วย เมื่อให้คำแนะนำกฎหมายที่ผิดพลาดก็ไม่รับผิดชอบ หรือหากมีการละทิ้งงานหรือฉ้อโกง หรือหลอกลวงเงินของลูกความแล้ว สภาทนายความก็ไม่มีอำนาจเข้าไปลงโทษแต่อย่างใด ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย

 

 

สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ เหล่านี้หลายเรื่อง แต่ไม่อาจลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ในขณะนี้ สภาทนายความกำลังพยายามแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมถึงการจดทะเบียนสำนักงานทนาย ความด้วย ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้สภาทนายความมีอำนาจเข้าไปควบคุมการดำเนินการของสำนักงานทนายความ ที่ประพฤติมิชอบได้ อันจะเป็นปกป้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

ทนายความบางคนอาจถูกสภาทนายความลงโทษเพราะประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยมีโทษห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปีหรืออาจถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ถ้าทนายความดังกล่าวยังขืนไปว่าความในศาลหรือแต่งฟ้องคำให้การฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาล กระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปโดยทนายความดังกล่าวจะเสียไปทันที ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อลูกความด้วย ทนายความดังกล่าวอาจถูกศาลลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็ได้

 

 

ทนายความที่ถูกห้ามทำการเป็นทนายความแล้วยังขืนไปทำการว่าความ จะมีโทษตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 33 ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการลงโทษเป็นเพียงห้ามทำการเป็นทนายความ ยังอาจถือได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความ หรือสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 6 ข้อ 21 อีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนทนายความที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความแล้ว ยังขืนทำการว่าความถือว่า ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ดังกล่าว มาแล้วข้างต้น แต่คนที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดก็ยังคงเป็นผู้เลือกหรือแต่งตั้ง

 

 

ดังนั้นหากสอบถามแล้ว ได้ความยังไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัย ก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายทะเบียนทนายความ หรือที่สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ 

 

ถามทนายความว่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไรกับบุคคลที่จะเป็นคู่ความกับตนหรือไม่?

 

หากมีการแต่งตั้งให้เป็นทนายความแล้ว ทนายความบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ขัดกันในการทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ลูกความ

 

การที่จะแต่งตั้งทนายความ หมายถึง การที่จะแต่งตั้งให้ทนายความทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้แต่งตั้ง หากทนายความมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่ความฝ่ายตรงข้าม เช่น เป็นญาติหรือเป็นเพื่อนสนิทกับฝ่ายตรงข้ามหรือมีผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับ จากคู่ความฝ่ายตรงข้าม เช่น เป็นที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้วหรือเป็นทนายความให้แก่ฝ่ายตรง ข้ามหรือทนายความมีส่วนได้เสียจากกรณีที่พิพาทกัน เช่น ทนายความเป็นผู้จะซื้อที่ดินที่จะพิพาทกัน หรือเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับมรดกเป็นที่ดินที่จะพิพาทกัน เป็นต้น ก็อาจจะทำให้ทนายความคนนั้นไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้แต่งตั้งทนายความได้

 

ปัญหานี้อาจพบได้ในต่างจังหวัด ซึ่งมีสังคมที่แคบกว่าในกรุงเทพมหานคร ทุกคนในจังหวัดอาจรู้จักกันและมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ทนายความที่ได้รับเป็นทนายความหรือได้ปรึกษาคดี ได้ทราบข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว ไปทำหน้าที่ทนายความให้กับอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะ มีความผิดเปิดเผยความลับของลูกความ หรือรับปรึกษาคดีแล้วภายหลัง มาทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นการประกอบอาชีพที่เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์และวิชาชีพทนายความ อันเป็นประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 3 ข้อ 11, 13 หรือ 18 ก็ได้ ดังนั้น ทนายความไม่ควรรับปรึกษาคดีที่มีปัญหาดังกล่าว

 

สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในคดี และค่าทนายความ

ทนายความมีวิธีการเรียกค่าใช้จ่ายและค่าทนายความไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปทนายความจะขอให้ลูกความเล่าเรื่องย่อแล้ว จะให้ความเห็นทางกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายก่อน จึงจะกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าทนายความ ซึ่งควรสอบถามรายละเอียดหรือข้อสงสัยเพื่อให้ทนายความอธิบายให้ชัดแจ้งด้วย

 

ทนายความบางคนจะเรียกค่าใช้จ่ายและค่าทนายความเป็นการเหมาจ่ายตลอดทั้งสามศาล หรือเหมาจ่ายเป็นรายศาล บางรายจะเรียกค่าใช่จ่ายตามที่จ่ายจริงแยกต่างหากจากค่าทนายความ แยกกันแต่ละศาล

 

ค่าใช้จ่ายในศาล หากเป็นคดีแพ่ง มีเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมศาลอย่างเดียวร้อยละ 2

 

หากคดีมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกันข้างต้น และต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ ที่ศาลสั่งให้ใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่ง ไปวางศาลด้วย ในกรณีที่ตัวความเป็นผู้ยากจน ก็อาจขอให้ทนายความยื่นคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาได้ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป หากเป็นคดีอาญาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาทั้งหมด

 

เคยมีคดีมรรยาททนายความหลายคดีที่ทนายความเรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากลูกความสูงกว่าที่กำหนดในกฎหมาย เช่น เรียกในอัตราร้อยละ 3 หรือร้อยละ 5 บางรายไม่แจ้งให้ลูกความทราบว่ากฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดของค่าฤชาธรรมเนียม ไว้ ทำให้ได้รับเงินสูงกว่าที่จะต้องนำไปวางศาล โดยนำมาเป็นประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นการใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลง สัญญาให้อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 3 ข้อ 14

 

ค่าทนายความ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการดำเนินคดีและความมีชื่อเสียงของทนายความ หรือของสำนักงานทนายความ มีวิธีการคิดค่าทนายหลายแบบ เช่น คิดเป็นอัตราร้อยละ จากทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน เช่น ร้อยละ 3 ร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ของทุนทรัพย์ เป็นต้น หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน หรือคิดเป็นรายชั่วโมงของการทำงานของทนายความ หรืออาจคิดเป็นรายครั้งที่ต้องไปทำงานว่าความที่ศาลหรือไปติดตามสืบค้นหา ข้อเท็จจริงแห่งคดี เป็นต้น

 

ค่าทนายความไม่มีการกำหนดแน่นอนว่าควรจะเรียกเท่าใด แต่ในทางจริยธรรมวิชาชีพทนายความแล้ว ค่าทนายความควรจะเรียกในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นการขูดรีดจากตัวความในขณะที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เคยมีคดีที่ทนายความเรียกค่าจ้างเฉพาะในชั้นบังคับคดีเป็นเงิน 60,000 บาท ทั้งที่คดีมีทุนทรัพย์เพียง 80,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการประกอบอาชีพที่เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของ ทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 18

 

มอบคดีให้ทนายความ

 

เมื่อได้สอบถามปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวจนเป็นที่พอใจว่า จะว่าจ้างทนายความดังกล่าวแล้ว ก็ควรส่งมอบคดีให้ทนายความดำเนินการ โดยควรบันทึกข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยละเอียด ระบุรายละเอียดของพยานเอกสารพยานบุคคล ที่อยู่ของพยานบุคคลดังกล่าว และวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้ทนายความสามารถทำงานต่อไป ได้อย่างรวดเร็ว โดยควรให้ทนายความลงชื่อรับบันทึกและพยานเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือด้วย เพื่อไม่ต้องมาโต้แย้งกันในภายหลังว่า ทนายความได้รับเอกสารดังกล่าวไปแล้วหรือยัง

 

ทำสัญญาจ้างว่าความ

 

ควรขอให้ทนายความทำหนังสือสัญญาจ้างว่าความให้ละเอียดถูกต้องตามที่ได้เจรจากันมา หากมีข้อความในหนังสือสัญญาข้อใดไม่ชัดเจนหรือไม่เข้าใจ ก็ขอให้ทนายความชี้แจง หรือขยายความในหนังสือสัญญาให้ชัดเจน เพื่อมิให้เป็นปัญหาในภายหลัง และผู้แต่งตั้งทนายความควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างว่าความให้เคร่งครัด

 

การเก็บเอกสาร

ควรเก็บสำเนาเอกสารที่ส่งมอบให้แก่ทนายความตลอดจนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี หนังสือโต้ตอบระหว่างท่านกับทนายความให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและติดตามคดี หรือใช้อ้างอิงในภายหน้า

 

การติดตามผลคดีอย่างใกล้ชิด

ควรติดตามผลคดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแล้วก็ตาม เพราะผลดีหรือผลเสียแห่งคดี ย่อมต้องตกแก่ตัวความเพียงฝ่ายเดียว หากละเลยไม่สนใจผลคดีแล้ว หากมีข้อผิดพลาดแล้วจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้

 

แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมทันที

หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามติดต่อมาหรือมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ต้องรีบแจ้งให้ทนายความทราบทันที เพราะข้อมูลบางอย่างที่ท่านเห็นว่าไม่สำคัญ อาจจะมีความหมายสำคัญต่อทนายความในการดำเนินคดีก็ได้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และรวดเร็วจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีอย่างยิ่ง

 

วันนัดของศาล

ต้องจดจำวันนัดของศาลให้แม่นยำ มิฉะนั้นหากท่านไม่ไปศาลในวันนัด ไม่ว่าจะเป็นเพราะหลงลืมหรือไม่ก็ตาม คดีท่านอาจจะได้รับความเสียหาย โดยไม่มีทางแก้ไขได้

 

มีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับคดีให้สอบถามทนายความทันที

เมื่อมีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับคดีที่มอบหมายให้ทนายความ ให้รีบสอบถามหรือขอคำอธิบายจากทนายความทันที อย่ามัวแต่เกรงใจ ต้องสอบถามหรือขอคำอธิบายจนเข้าใจดี มิฉะนั้น ปัญหาข้อข้องใจดังกล่าวอาจทำให้ผลของคดีต้องได้รับความเสียหาย หรือกลายเป็นปัญหาใหญ่ติดตามมา หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับทนายความก็ได้



28/Apr/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา